อย่าหลงเชื่อ! “ดีอี” เตือน ข่าวปลอม “เปิดให้บริการรถไฟ SRT 2025 รุ่นใหม่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่”
GH News May 24, 2025 05:06 PM

ดีอี เตือน ข่าวปลอม “เปิดให้บริการรถไฟ SRT 2025 รุ่นใหม่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่” สร้างความสับสน- เข้าใจผิด ให้ ปชช.

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เปิดให้บริการรถไฟ SRT 2025 รุ่นใหม่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่” รองลงมาคือเรื่อง “โควิดโอมิครอน XEC แพร่เร็ว ติดง่าย วัคซีนเอาไม่อยู่” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล สับสน และเข้าใจผิดในสังคม

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 16 – 22 พฤษภาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 826,061 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 685  ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 663 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 22 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 226 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 122 เรื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 139 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 37 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 14 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 6 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 30 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ เป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องการให้บริการของหน่วยงานรัฐ เรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของไวรัสโควิด ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความมั่นคงของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง เปิดให้บริการรถไฟ SRT 2025 รุ่นใหม่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

อันดับที่ 2 : เรื่อง โควิดโอมิครอน XEC แพร่เร็ว ติดง่าย วัคซีนเอาไม่อยู่

อันดับที่ 3 : เรื่อง เตือนภัยเครื่องบิน C-135 4 ลำ จะตกที่สมุย

อันดับที่ 4 : เรื่อง เรือสุพรรณหงส์ กำลังจะตกเป็นของกัมพูชา

อันดับที่ 5 : เรื่อง สมเด็จพระสังฆราช รับสั่งให้งดถวายเงินพระโดยเด็ดขาด ทุกกรณี

อันดับที่ 6 : เรื่อง คุณมาดี ลงพื้นที่ขอถ่ายรูป สแกนลายนิ้วมือ เพื่อเก็บข้อมูลสำมะโนประชากร

อันดับที่ 7 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดให้ลงทะเบียนกู้สินเชื่อผ่านบัญชี Tiktok namonaka56

อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกใบรับรองจดทะเบียน บริษัท เงินกู้ ออนไลน์ ส่วนบุคคล จำกัด

อันดับที่ 9 : เรื่อง ด่วน! กฟภ. เปิดเว็บไซต์เฉพาะกิจ รับลงทะเบียนขอคืนค่าประกันมิเตอร์

อันดับที่ 10 : เรื่อง ทานเมลทิลีนบูล เพื่อล้างพิษ หลังฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “เปิดให้บริการรถไฟ SRT 2025 รุ่นใหม่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทรวงคมนาคม ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอยืนยันว่า คลิปวิดีโอที่มีการแชร์บนโซเชียลต่าง ๆ นั้นไม่เป็นความจริง จึงขอความร่วมมืออย่าได้แชร์หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง ข้อมูลที่ไม่มีที่มาและเพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง โปรดติดตามข่าวสารจากช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นทางการของการรถไฟฯ เท่านั้น เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม

ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “โควิดโอมิครอน XEC แพร่เร็ว ติดง่าย วัคซีนเอาไม่อยู่” กระทรวงดีอี ได้ตรวจสอบร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ประเทศไทยเริ่มพบ XEC ครั้งแรกเดือนสิงหาคม 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา และพบแนวโน้มลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ทำให้เชื่อได้ว่า อัตราการแพร่กระจายของสายพันธุ์ XEC แพร่เร็ว ติดง่าย วัคซีนเอาไม่อยู่ ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง แนะนำให้กลุ่มเสี่ยงควรรับวัคซีน ร่วมกับการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความวิตกกังวล หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)

|  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.