ธุรกิจการบินไทย พร้อมเดินหน้าสู่เชื้อเพลิง SAF
SUB_NOI May 26, 2025 09:26 AM

จากการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า การเดินทางทางอากาศจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2583 ขณะที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ตั้งเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 พร้อมให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมการบินคิดเป็นสัดส่วนราว 2-3% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก

เมื่อนับการปล่อยก๊าซที่ไม่ใช่ CO2 และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำจัดคาร์บอนได้ยากที่สุด อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจึงต้องหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และทางออกคือเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน หรือเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)

การบินทั่วโลกหนุนใช้ SAF

โดยหลายประเทศทั่วโลกมีข้อกำหนดให้สายการบินใช้ SAF เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว เช่น สหภาพยุโรป กำหนดให้สายการบินต้องใช้ SAF 5% ภายในปี 2030 หรือปี 2573 และ 100% ภายในปี 2050 หรือในอีก 25 ปีข้างหน้า

หรือ ICAO ที่มีโครงการ CORSIA เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบิน โดยสายการบินต่าง ๆ จะต้องใช้เชื้อเพลิงเครื่องบินผสมที่มี SAF 1% ในปี 2569 และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 3-5% ภายในปี 2573

บินไทยผนึก ส.การบินเสวนา

สำหรับอุตสาหกรรมการบินของไทยนั้น ล่าสุด “การบินไทย” ได้ร่วมกับสมาคมธุรกิจสายการบิน (Board of Airline Representatives Business Association : BAR) จัดงานสัมมนา “Flying Green : Thailand’s Sustainable Aviation Fuel Forum” โดยรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคอุตสาหกรรมการบินและพลังงานร่วมหารือเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน หรือ SAF ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมการบิน

พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และมุมมองจากผู้กำหนดนโยบาย ผู้ผลิต SAF และตัวแทนจากสายการบินชั้นนำต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของ SAF ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบิน ประกอบด้วย 1.ผู้กำหนดนโยบาย อาทิ ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำ เช่น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA), สำนักงานการบินพลเรือนฯ (CAAT) และกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดด้านกฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ SAF

2.ผู้ผลิต SAF ประกอบด้วย ผู้บริหารจาก PTTOR, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มมิตรผล พร้อมทีมบริหารระดับสูง ร่วมนำเสนอแนวทางการผลิต SAF โซ่อุปทาน และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และ 3.ตัวแทนจากสายการบิน ประกอบด้วย ผู้บริหารจากการบินไทย, บางกอกแอร์เวย์ส และกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า

โดยทุกภาคส่วนได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความท้าทาย และแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการนำ SAF มาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน

SAF คือความจำเป็น

“ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทย บอกว่า การบินไทยตระหนักดีว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ SAF ไม่ใช่เพียง “ทางเลือก” แต่เป็น “ความจำเป็น” เนื่องจาก SAF มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 80%

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการปรับตัวในเรื่องของปริมาณ ราคา และโครงสร้างพื้นฐาน การสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเร่งนำ SAF มาใช้ในประเทศ โดยเชื่อมโยงผู้นำในอุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ริเริ่มนวัตกรรม

ในฐานะสายการบินชั้นนำของไทย “การบินไทย” มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

เช่นเดียวกับ “กรกฏ ชาตะสิงห์” ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ “การบินไทย” ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจสายการบิน (BAR) บอกว่า งานสัมมนานี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของไทยไปสู่ความยั่งยืน การสนทนาและความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากเวทีนี้จะช่วยผลักดันให้การพัฒนา SAF ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

การผนึกพลังกันครั้งนี้ถือเป็นความมุ่งมั่นของภาคอุตสาหกรรมการบินและพลังงานในการเร่งผลักดันการใช้ SAF ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนา SAF ในภูมิภาค

รวมทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือ และการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่ความก้าวหน้าที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.