บนพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 84 ตารางวา ในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังคงมีอาคารเก่าแก่อายุ 130-140 ปี เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกที่สร้างในเมืองเชียงใหม่ยุคแรก
นั่นคือ “ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)” ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้งานศิลปวัฒนธรรมและชุมชนของคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาคารเก่าแก่แห่งนี้บางคนเรียกว่า คุ้มกลางเวียง เดิมเป็นของเจ้าบุรีรัตน์ (น้อย มหาอินทร์) หลานของเจ้าหลวงคำฝั้น (เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 3) สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นระหว่างปีพ.ศ.2432-2436
ต่อมาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชายเจ้าบุรีรัตน์ (น้อย มหาอินทร์) ได้รับมรดกและเป็นผู้ครอบครองอาคารในระหว่างปี พ.ศ.2437-2489
นางบัวผัน นิกรพันธ์ (ทิพยมณฑล) ได้ซื้อต่อจากเจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ (ภริยาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่) และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงญาติคนปัจจุบันคือ คุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล (บุตรีนางบัวผันและเป็นน้าสาวของอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร)
วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544 ตระกูลกิติบุตรและทิพยมณฑลได้มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้มีการปรับปรุง ดูแล และยังคงอนุรักษ์อาคารเพื่อให้อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นสถานที่เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานรูปแบบตะวันตก และรูปแบบล้านนาได้อย่างลงตัว
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ภายในก่ออิฐหนาสูงประมาณ 1.80 เมตร ตัวอาคารสองชั้นครึ่งอิฐครึ่งไม้ โดยรอบทั้งสี่ด้าน อาคารสองชั้นมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ประสมประสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกและล้านนา แปลนเป็นลักษณะศอกคู้ (รูปตัว L) ชั้นล่างมี 3 ห้อง ชั้นบนมี 3 ห้อง บันไดอยู่นอกอาคารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ส่วนชั้นล่างเป็นรูปแบบผสมของเรือนมะนิลากับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ซึ่งแพร่หลายในประเทศอาณานิคม ชั้นบนเป็นเรือนเครื่องไม้แบบเชียงใหม่ที่นำเทคนิควิธีเครื่องบนไม้และวัสดุพื้นเมือง (ดินขอ) มาใช้อย่างเหมาะเจาะลงตัว หลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยาคลุมระเบียงโดยรอบ
โครงสร้างเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมมหาอำนาจอังกฤษในเชียงใหม่ในยุคแรก แสดงถึงอิทธิพลทางการก่อสร้างการก่ออิฐ การแปรรูปไม้ เทคนิคการเข้าไม้ โครงสร้างที่ใช้ช่างก่อสร้าง ที่ได้รับการฝึกฝนจากชาวตะวันตก เข้ามาพร้อมการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ
ล่าสุดในปี 2568 ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ได้รับการรับรองมาตรฐาน 5 ดาว STGs STAR ดาวแห่งความยั่งยืน จากโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โดยศูนย์แห่งนี้นับเป็นอาคารตัวอย่างที่ได้รับแนวทางการอนุรักษ์และบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอนุรักษ์ เป็นการเก็บรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เห็นและยังเป็นตัวอย่างการอนุรักษ์ให้แก่หน่วยงานอื่นๆ ของประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ อาคารอันทรงคุณค่าแห่งนี้ยังได้รับรางวัลมากมาย อาทิ ในปี 2548 รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ปี 2560 รับรางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน (Museum Thailand Popular Vote 2017)
ปี 2561 รับรางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน (Museum Thailand Popular Vote 2018) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านวัฒนธรรม (Second Runner-Up In “Culture”) ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม
ปี 2562 รับรางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน (Museum Thailand Popular Vote 2019) และรางวัลดีเด่นด้านกระบวนการเรียนรู้ (Award for Outstanding Learning Process) ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม
ปี 2563 รางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน (Museum Thailand Popular Vote 2020)
ปี 2565 รับรางวัล Outstanding Work Awards โครงการส่งเสริมและพัฒนาการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (NIA) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปี 2566 รับรางวัลดีเด่น (Thailand Tourism Silver Awards) ประเภทแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จากการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ปี 2567 รับรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2567 “ประเภทรางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสรรเสริญ” จากสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย
ปัจจุบันศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นศูนย์กลางในการค้นคว้าและวิจัยทางด้านสถาปัตยกรรม ล้านนาและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ และบูรณะซ่อมแซม เพื่อเป็นแนวทางการอนุรักษ์และบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอนุรักษ์
อีกทั้งยังเป็นแหล่งพบปะของสถาปนิกและบุคคลทั่วไปในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ.เชียงใหม่
ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างความเข้าใจหรือปลุกจิตสำนึกของประชาชนในท้องถิ่นให้ตระหนักถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมต่อไปได้อย่างยั่งยืน
สำหรับอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ตั้งอยู่เลขที่ 117 ถนนราชดำเนิน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ส่วนจัดแสดงนิทรรศการเปิดวันอังคาร-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลาให้บริการเข้าชม 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น./ พักเครื่องฉายภาพและเสียง เวลา 12.00-13.00 น. งดให้บริการเข้าชม ทุกวันจันทร์
โทรศัพท์ : 0-5327-7855, เว็บไซต์ : http://www.arc.cmu.ac.th, เฟซบุ๊ก : ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา https://www.facebook.com/SunySthapatykrrm LanNa/
นนทวรรณ มนตรี