ประเทศไทยดินแดนแห่งพหุวัฒนธรรมหลอมรวมด้วยกลุ่มคนที่แตกต่างทั้งวัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย คติความเชื่อ และเอกลักษณ์ทางรูปกาย สิ่งที่กล่าวมานี้ถ่ายทอดเป็นภาพถ่ายที่หาชมได้ไม่ง่าย แต่นายอภินันท์ บัวหภักดี อดีตบรรณาธิการ อนุสาร อ.ส.ท. นักเขียนและช่างภาพผู้มีผลงานด้านการภาพถ่ายเป็นที่ยอมรับ หัวหน้าโครงการนิทรรศการภาพถ่ายพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย เชื้อเชิญเหล่าช่างภาพบันทึกภาพความงดงามของวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วแผ่นดินไทย ช่างภาพแต่ละคนต่างดั้นด้น ค้นหา และเดินทางไกลเพื่อไปใช้ชีวิต เรียนรู้ จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจได้ถ่ายภาพผู้คน สถานที่ วัฒนธรรมประเพณีในรูปแบบ Grand Moment หรือช่วงเวลาพิเศษของการเดินทางที่สร้างความประทับใจและเปี่ยมความหมาย
สีสันประเพณีปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน โดยอดุล ตัณฑโกศัย
มากกว่าหนึ่งร้อยภาพกับการเดินทางยาวนานกว่า 3 ทศวรรษของช่างภาพ 8 คน ประกอบด้วย อภินันท์ บัวหภักดี, นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง, อดุล ตัณฑโกศัย, จิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน, Taro Evolutions, ชนาธิป อินทรวิชะ, จิตติมา ผลเสวก และ กิ่งทอง มหาพรไพศาล ในนิทรรศการภาพถ่าย “พหุวัฒนธรรม สยามสมัย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” จะนำพาผู้ชมไปเรียนรู้ชีวิตที่ดำรงอยู่ต่างที่ ต่างถิ่น จากขุนเขาบนดอยสูงสู่ผืนน้ำกว้างไกล จากแผ่นดินอันแห้งแล้งสู่ท้องทุ่งอันอุดมผ่านภาพถ่าย จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ร่วมกับโครงการนิทรรศการภาพถ่ายพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย กำหนดพิธีเปิด“นิทรรศการภาพถ่ายพหุวัฒนธรรม สยามสมัย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ณ ห้องพิพิธภัณฑ์ของโบราณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในวันเสาร์ที่ 31 พ.ค. 2568 เวลา 12.30 – 17.00 น.โดยวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี
ภาพถ่ายหญิงสาวชาวมานิกับลูกน้อย โดย จิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน์
นายอภินันท์ บัวหภักดี หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า นิทรรศการภาพถ่ายพหุวัฒนธรรม สยามสมัย รวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทยจัดขึ้นเพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจและเห็นคุณค่าของพหุวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่ความเคารพนับถือ โอบเอื้ออารี รู้รักสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความสุขของคนทุกกลุ่มในสังคมไทย นิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องความเป็นไทยผ่านงานทัศนศิลป์ สาขาศิลปะภาพถ่าย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และยอมรับในประเด็นความหลากหลายเชื้อชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ชาติในการส่งเสริมเอกลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ภาพถ่ายพหุวัฒนธรรมมีความสวยงามและสะท้อนความประทับใจ เป็นผลงานที่หาชมได้ยาก เป็นภาพสะสม บางภาพคว้ารางวัลมาแล้ว ซึ่งจะต่อยอดสู่การจัดทำหนังสือภาพ (Photo book) ชุมชนวัฒนธรรมในประเทศไทย พหุวัฒนธรรมสยามสมัยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ในรูปแบบ e-book ที่จะเปิดให้บริการดาวน์โหลดได้โดยไม่จำกัดจำนวนเร็วๆ นี้
พิธีเหยาชาวโส้สกลนคร ช่วยปัดเป่าโรคภัย โดยกิ่งทอง มหาพรไพศาล
กิ่งทอง มหาพรไพศาล หนึ่งในสุดยอดช่างภาพสายวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนเดินทางไปทั่วประเทศไทยด้วยภาระหน้าที่หน้าที่การงานสายวัฒนธรรมของประเทศ ทำให้ได้สัมผัส ได้ถ่ายภาพชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีผลงานภาพถ่ายวัฒนธรรมที่หลากหลาย นิทรรศการภาพถ่ายพหุวัฒนธรรมครั้งนี้ร่วมแสดงผลงาน เช่น ภาพพิธีเหยาของชาวโส้ สกลนคร เชื่อว่าผีหรือวิญญาณบรรพบุรุษ จะช่วยปัดเป่าโรคภัย , ภาพโนรานาฏยศิลป์ถิ่นทักษิณ บันทึกความงดงามของท่วงท่ารำโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ รวมถึงเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์และสีสันสวยงามของศิลปินโนราพื้นบ้าน ฯลฯ ภายในนิทรรศการยังมีภาพถ่ายสวยงามของช่างภาพชั้นนำ เป็นงานแสดงภาพถ่ายไม่ควรพลาดชม เชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทยอีกด้วย
ชาวอาข่า บ้านเมืองลวง เชียงราย โดยนันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง
สำหรับพิธีเปิดจะมีกิจกรรมไฮไลต์ ได้แก่ เวทีเสวนาพหุวัฒนธรรม หัวข้อ “พหุวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยว” ซี่งเป็นไฮไลท์สำคัญ นำโดย อ.นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง , วิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดเชียงราย และกิจกรรม workshop หัวข้อ “เรื่องเล่าจากภาพถ่ายท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” โดยช่างภาพระดับแถวหน้าทั้งสายกล้องโปรและกล้องมือถือ อาทิ วิศาล น้ำค้าง, นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง, โกมินทร์ เสือภูเขา, วิทยา พรหมขจร และอภินันท์ บัวหภักดี ทั้งยังจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ จำหน่ายของที่ระลึก ตลอดจนของว่างและเครื่องดื่มที่มีกลิ่นอายพหุวัฒนธรรม
นิทรรศการภาพถ่าย “พหุวัฒนธรรม สยามสมัย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”จะจัดแสดงต่อเนื่อง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. – 31 ส.ค.นี้ ผู้เข้าร่วมงานในวันเปิดจะได้รับสิทธิ์ผ่านเข้าอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) โดยไม่เสียค่าผ่านประตู ติดตามเพิ่มเติมและรายละเอียดสมัครร่วม workshop ได้ที่เพจ : เที่ยวไปตามใจหนุ่มพเนจร , เฟซบุ๊ก : หนุ่ม พเนจร , Facebook : นิทรรศการภาพถ่ายพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย
ภาพจำลองพิธีเซ่นเชือกปะกำของชาวกูย หมู่บ้านช้าง สุรินทร์ โดย อภินันท์ บัวหภักดี
ทับหลังน้อยของมานิในป่าใหญ่รอยต่อระหว่างจ.ตรังและสตูล โดยจิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน์