มก. เดินหน้าก่อสร้างอาคารเรียนแพทย์ 17 ชั้น พร้อมต่อยอดสู่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ตอนบน จ่อเพิ่มที่นั่งเรียนแพทย์ครบ 100 คนในอนาคต
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นายดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นประธานกล่าวในพิธีลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการคณะแพทยศาสตร์ โครงการอุทยานการแพทย์ มก. ว่า การก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการคณะแพทยศาสตร์ ในครั้งนี้สืบเนื่องมากจากคณะผู้บริหารมก.มีความเห็นที่ตรงกันว่ามหาวิทยาลัยควรจะมีการปฏิบัติงานในเรื่องของศาสตร์ทางด้านสุขภาพ ซึ่งในภาพรวมมก.มีความเชี่ยวชาญในทุกด้านๆไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยในเรื่องเหล่านี้มก.มีโครงสร้างที่แข็งแรง แต่หากต้องการเพิ่มคุณภาพในด้านวิชาการจะต้องมีวิชาการทางด้านการแพทย์เข้ามาเสริมโครงสร้างเหล่านี้
“นอกจากนี้จากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือ โควิด-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างมากในเรื่องของโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วย ซึ่งในกรุงเทพมหานครตอนบนยังขาดโรงพยาบาลที่จะมาดูแลประชาชนอยู่พอสมควร การจัดตั้งอาคารเรียนและปฏิบัติการคณะแพทยศาสตร์ในครั้งนี้จึงทำเพื่อให้ประชาชนโดยรอบมก.บางเขนเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งตามแผนงานการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 โดยมีบริษัท อาคาร 33 จำกัดเป็นผู้รับผิดชอบ”นายดำรงค์ กล่าว
นายดำรงค์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มก. มีนิสิตรุ่นแรกทั้งหมด 48 คน ซึ่งในตอนนี้นิสิตจะทำการเรียนการสอนที่วิทยาเขตบางเขน คณะวิทยาศาสตร์ เป็นระยะเวลา 3 ปี และในปีที่ 4 นิสิตคณะแพทย์ฯครึ่งหนึ่งจะได้เข้าเรียนที่โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร จังหวัดสกลนคร และอีกครึ่งหนึ่งจะได้เข้าเรียนที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี และเมื่ออาคารเรียนและปฏิบัติการคณะแพทยศาสตร์สร้างเสร็จทางมก.ก็จะเปิดรับนิสิตเพิ่มรวม 100 คน โดยกลุ่มที่เข้ามาใหม่ก็จะเข้าเรียนที่อาคารดังกล่าว
ด้าน พล.อ.นพ.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า อาคารเรียนนี้จะมีทั้งหมด 17 ชั้น โดยแบ่งการใช้งานออกเป็น 8 หมวด 1.ใช้ในการเรียนการสอนนิสิตคณะแพทย์ฯทั้ง 6 ชั้นปี โดยในอีก 10 ปีจะมีการเปิดรับนิสิตกลุ่มใหม่เพิ่มอีก 24 คนซึ่งทั้งหมดจะทำการเรียนการสอนที่อาคารเรียนนี้ 2.ห้องปฏิบัติการของนิสิตและอาจารย์ผู้สอน 3.ห้องเรียนและห้องปฏิบัติการกายวิภาค 4.ห้องฝึกสถานการณ์จำลองทางการแพทย์ 5.ห้องพักนิสิตและอาจารย์คณะแพทย์ 6.ห้องประชุม 7.ห้องสมุด 8.ห้องอาหารซึ่งผู้ใช้บริการโรงพยาบาลสามารถเข้ามาใช้บริการได้ทุกคน
ด้าน นายปารเมศ กำแหงฤทธิรงค์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการนี้มีการทำงานกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมาได้มีการวิเคราะห์พื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในมก.จนสามารถสร้างแผนผังออกมาได้ โดยเป็นพื้นที่ที่มีขนาด 50 ไร่ และยังเป็นพื้นที่สีเขียวตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวยังรองรับการเข้าถึงจากการโดยสารสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯตอนบนสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวก