หายนะจากการทำเหมืองในประเทศเมียนมาด้วยการปล่อยสารเคมีอันตรายไหลลงสู่แม่น้ำ ได้ส่งผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยผลการตรวจสอบ “ตะกอนดิน” ใน “แม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำโขง”
รวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก “แม่น้ำฝาง แม่น้ำกรณ์ แม่น้ำลาว แม่น้ำสรวย” ที่เก็บตัวอย่างไปครั้งที่ 2 ช่วงเดือนเมษายน 2568 และครั้งที่ 3 เดือนพฤษภาคม 2568 พบโลหะหนัก “สารหนู ตะกั่ว” และโลหะหนักอื่น ๆ ได้แก่ นิกเกิล ทองแดง โครเมียม แคดเมียม ระดับ “ค่าเกินมาตรฐาน” ที่ไม่ปลอดภัยต่อสัตว์หน้าดิน ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ แต่ถ้าชาวบ้านบริโภคปลาเป็นจำนวนมากและเป็นประจำอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย
จากการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดตะกอนดิน ครั้งที่ 2 (เมษายน 2568) บริเวณที่ติดกับพรมแดนของเมียนมาในแม่น้ำกก พบโลหะหนัก “สารหนู” มีค่าสูงเกินมาตรฐาน “เกือบทุกจุด” ตรวจวัด หลังจากน้ำไหลผ่านฝายเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย สารหนูมีค่าเป็นไปตามมาตรฐาน และมีค่าเกินมาตรฐาน และจุดบรรจบแม่น้ำกกและแม่น้ำโขงมีค่าเป็นไปตามมาตรฐาน แสดงให้เห็นว่าหลังจากที่กระแสน้ำมีการลดความเร็วและผ่านฝายจะเกิดการดักตะกอน อนุภาคหรือสารแขวนลอยมีอัตราการตกตะกอนหน้าฝายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตะกอนที่ปนเปื้อนสารหนูหรือโลหะหนักหลุดรอดไปกับกระแสน้ำมีจำนวนลดน้อยลง
แต่ผลการตรวจวัดตะกอนดิน ครั้งที่ 3 (พฤษภาคม 2568) พบว่า สารหนูมีค่าเกินมาตรฐานคุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดินทุกจุดตรวจวัด ซึ่งสัมพันธ์กับค่าความขุ่นในน้ำที่สูงมากกว่าค่าที่ตรวจวัดในครั้งที่ผ่านมาตลอดทั้งลำน้ำ แสดงให้เห็นว่าในฤดูน้ำหลากกระแสน้ำที่ไหลเร็วชะล้างตะกอนจากต้นน้ำลงสู่ลำน้ำมากขึ้น และไม่สามารถตกตะกอนได้มากจึงสะสมในระดับตื้นกระจายทั่วบริเวณชั้นบนของพื้นท้องน้ำ และถูกพัดพาไปตลอดเส้นลำน้ำ
จากผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา แนวโน้มของการปนเปื้อนโลหะหนักใน “แม่น้ำกกและลำน้ำสาขา แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง” คาดว่าโลหะหนักจะปะปนมากับสารแขวนลอยที่มากับน้ำ ดังนั้น หากมีการพักน้ำหรือทำให้มีการตกตะกอนของสารแขวนลอย อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้โลหะหนักน้ำมีค่าลดลง ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างทดสอบการตกตะกอนของสารแขวนลอย เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโลหะหนักในน้ำเกินค่ามาตรฐาน
ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฝายดักตะกอนแม่น้ำกกที่รัฐบาลมีแผนจะทำนั้น ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เป็นการแก้ปลายเหตุ ไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ฝายดักตะกอนเป็นฝายชั่วคราว พร้อมจะพังหากเจอสถานการณ์น้ำท่วมทะลักรุนแรงอย่างปี 2567 เท่ากับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เป็นการใช้งบประมาณละลายแม่น้ำไป โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย 100% เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในข้อเท็จจริง แม่น้ำทั้ง 4 สายได้รับผลกระทบสารปนเปื้อนจากการทำเหมืองแร่ในประเทศเมียนมาทั้งสิ้น ไม่ใช่เฉพาะแม่น้ำกก ที่สำคัญรัฐบาลไม่มีความมุ่งมั่นมากพอที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
นอกจากนี้ หากมีการทำฝายดักตะกอน ตะกอนที่ปนเปื้อนสารพิษจะเอาไปทิ้งที่ไหน จะกระทบต่อชุมชนหรือไม่ เหมือนแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ก่อให้เกิดอีกหลายปัญหา
ดร.สืบสกุลกล่าวต่อไปว่า ล่าสุดรัฐบาลจีนแสดงท่าทีพร้อมเปิดการเจรจาเพื่อแก้ปัญหานี้ ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องแสดงความจริงใจและเอาจริงเอาจังเปิดเจรจากับรัฐบาลจีนถึงแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน และต้องทำให้รัฐบาลจีนมีความจริงจังและจริงใจต่อการแก้ปัญหา เพราะจีนได้ประโยชน์ในการทำเหมืองแร่หายาก (Rare-Earth)
“ตอนนี้อาจยังไม่มีใครป่วย แต่สารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำทั้ง 4 สาย จะเกิดการสะสมในร่างกาย รวมถึงพืชผลทางการเกษตรที่มีนับแสน ๆ ไร่ในจังหวัดเชียงราย การที่เกษตรกรใช้น้ำปนเปื้อนสารพิษ เพราะไม่มีทางเลือก”
ดร.สืบสกุลกล่าวต่อไปว่า พื้นที่เกษตรกรรมในลุ่มน้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง คือพื้นที่ห่วงโซ่อาหารตกอยู่ในความเสี่ยงมีสารโลหะหนักตกค้าง เนื่องจากปัจจุบันแผนที่ชลประทานระบุว่า เชียงรายมีพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำกก (ฝายเชียงราย) ในการเพาะปลูก เนื้อที่ 58,723 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ คือ อ.เมือง เวียงชัย ดอยหลวง แม่จัน และเชียงแสน, มีพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำสายและน้ำรวกในการเพาะปลูก เนื้อที่ 60,502 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ แม่สาย และเชียงแสน
รวมเป็นเกษตรกรรมที่ใช้น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก เนื้อที่ 119,225 ไร่ มีเกษตรกรรวม 8,077 ครอบครัว โดยข้าวเป็นพืชหลักที่เกษตรกรปลูก มีเนื้อที่ 82,453 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 13,162 ไร่ รวมถึงข้าวโพดฝักสด และพืชผัก โดยตลาดปลายทางขายทั้งภายในจังหวัดเชียงราย ต่างจังหวัด และต่างประเทศ
ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาคือ 1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยแผนและผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ตะกอนดิน พืชผลการเกษตร และสุขภาพของเกษตรกรในลุ่มน้ำกก สาย รวก และโขง ที่ใช้น้ำปนเปื้อนสารพิษในการเกษตร 2.จัดทำข้อมูลห่วงโซ่สินค้าเกษตรทุกชนิดตั้งแต่ปลูกไปจนถึงตลาดสินค้าในท้องถิ่น ประเทศ และต่างประเทศ และต้องมีแผนเฝ้าระวังสารโลหะหนักตกค้าง เพราะเท่าที่ทราบ ที่บ้านสบคำเชียงแสนน้อย เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสำคัญ อาทิ มะเขือม่วง กระเจี๊ยบเขียว ซึ่งส่งออกไปญี่ปุ่น พื้นที่เกษตรรวม 8,215 ไร่
3.จัดทำแผนที่ความเสี่ยงแสดงพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำกก สาย รวก และโขงในการเกษตร โดยต้องมีจำนวนเกษตรกร พื้นที่เกษตร ชนิดพืช ผลไม้ และสัตว์ ที่ชัดเจนเป็นปัจจุบัน 4.ต้องให้คำตอบที่ชัดเจนกับเกษตรกรว่าควรนำน้ำปนเปื้อนสารโลหะหนักทำการเกษตรหรือไม่ 5.หากกระทรวงเกษตรฯไม่แนะนำให้ใช้น้ำปนเปื้อนสารโลหะหนักในการเกษตร ต้องจัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรทั้งหมด
ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์ปลาในลุ่มน้้ำทางภาคเหนือในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบจำนวนปลาผิดปกติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีตุ่มตามตัวรุนแรงขึ้น ทั้งแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก รวมถึงแม่น้ำโขง จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของชุมชนในจังหวัดเชียงราย ได้สร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวประมงริมแม่น้ำกกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกรณีการปนเปื้อนสารพิษในแม่น้ำ หลังจากพบว่าน้ำมีสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน แม้ผลการตรวจสอบสารโลหะหนักในตัวปลายังไม่เกินเกณฑ์ ได้สร้างความกังวลและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถจำหน่ายปลาได้ตามปกติ รายได้หดหายอย่างต่อเนื่อง
จากผลตรวจห้องปฏิบัติการกลางจังหวัดเชียงใหม่ ส่งตรวจโดยกรมประมง ทั้ง 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 11 เมษายน 2568 หลังฝายเชียงราย พบสารหนู 0.013 mg/kg สารปรอท (Hg) 0.09 mg/kg ครั้งที่ 2 วันที่ 28 เมษายน 2568 แม่น้ำโขงอำเภอเชียงแสน พบสารปรอท (Hg) 0.14 mg/kg สารตะกั่ว (pb) 0.05 mg/kg ครั้งที่ 3 วันที่ 1-2 พฤษภาคม 2568 จุดที่ 1 โป่งนาคำ พบปลากินเนื้อ มีสารปรอท (Hg) 0.054 mg/kg สารตะกั่ว (pb) 0.11 mg/kg จุดที่ 2 ฝายเชียงราย ตัวอย่างปลากินเนื้อ พบมีสารปรอท (Hg) 0.089 mg/kg จุดที่ 3 บริเวณแม่น้ำกก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ตัวอย่างปลากินเนื้อ พบมีสารปรอท (Hg) 0.13 mg/kg
ด้าน นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า ตอนนี้พบปลามีความผิดปกติภายนอก มีลักษณะการติดเชื้อ ได้ติดตามเพื่อนำปลาไปตรวจ หากพบว่าปลาที่พบมีสารพิษในตัวปลาก็สันนิษฐานได้ว่ามาจากเหมือง ตอนนี้สถานการณ์ปลาได้กระจายไปถึงแม่น้ำโขงแล้ว ทั้งลุ่มน้ำโขงเหนือยืนยันได้แล้วว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก หลังจากนี้จะส่งเข้าสู่กระบวนการทางวิทยาศาตร์เพื่อหาสาเหตุและการวิเคราะห์สารปนเปื้อน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็จะนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในอนาคต ในการเรียกร้องปิดเหมือง ปัญหานี้ไม่ใช่เพียงเรื่องปลาหรือชาวประมง แต่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในระยะยาว
“เราต้องการเห็นความรับผิดชอบจากต้นตอของปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่คำอธิบายว่า ยังไม่เกินมาตรฐาน ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีจากหน่วยงานรัฐต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่กระแสกดดันจากภาคประชาชนและองค์กรสิ่งแวดล้อมกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และพิจารณาทางเลือกในการปิดเหมืองที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง”