เงินบาทอ่อนค่ากลับมาเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ กสิกรไทยคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 32.00-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตา 5 ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้า ทั้งผลการประชุม FOMC และ Dot Plot ใหม่ของเฟด (17-18 มิ.ย.) ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และคู่ค้า และสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 8 เดือน แต่อ่อนค่ากลับมาเล็กน้อยช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่ ตลาดติดตามสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอย่างใกล้ชิด
เงินบาทขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนต่อเนื่องจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 8 เดือนที่ 32.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีการค้าของสหรัฐฯ (แม้จะมีสัญญาณความคืบหน้าของเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด
เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ตามภาพรวมการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนกลับมาบางส่วนท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดของการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทยังเป็นไปอย่างจำกัด เพราะยังคงมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
ในวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.47 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 มิ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-13 มิ.ย. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 594 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรไทย 8,802 ล้านบาท
สำหรับสัปดาห์ถัดไป หรือสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-20 มิ.ย. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.00-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC และ Dot Plot ใหม่ของเฟด (17-18 มิ.ย.) ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และคู่ค้า และสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนมิ.ย. ข้อมูลยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการเริ่มสร้างบ้านเดือนพ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนพ.ค. (อาทิ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราว่างงาน) และอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (16-17 มิ.ย.) ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (18 มิ.ย.) ธนาคารกลางอังกฤษ (19 มิ.ย.) และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน (20 มิ.ย.) ด้วยเช่นกัน
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงท้ายสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน
ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบก่อนจะขยับขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ หลังมีแรงหนุนจากรายงานความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นแล้ว ประกอบกับสหรัฐฯ ตอบรับเจรจาการค้ากับไทยอย่างเป็นทางการ แต่กรอบการปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุดธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2568 ลงเหลือ 1.8%
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในเวลาต่อมา หลังจากที่ตอบรับประเด็นบวกข้างต้นไปพอสมควร โดยเผชิญแรงขายทำกำไรหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี แบงก์ และไฟแนนซ์ซึ่งมีประเด็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามากำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่งของธปท. ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงต่อในช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังมีรายงานข่าวว่าอิสราเอลเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่ออิหร่าน ซึ่งกระตุ้นแรงขายหุ้นทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มพลังงานที่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้น
ในวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,122.70 จุด ลดลง 1.21% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 30,872.70 ล้านบาท ลดลง 18.52% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.72% มาปิดที่ระดับ 237.14 จุด
สัปดาห์ถัดไป (16-20 มิ.ย. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,110 และ 1,100 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,145 และ 1,155 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (17-18 มิ.ย.) ประเด็นเกี่ยวกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนพ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BOJ และ BOE ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนมิ.ย. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ในส่วนของราคาทอง “MTS GOLD” หรือห้างทองแม่ทองสุก รายงานก่อนหน้านี้ว่า ราคาทองคำพุ่งขึ้นกว่า 46 ดอลลาร์ ทันที แตะ 3,432 ดอลลาร์ หลังจากที่อิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศต่ออิหร่าน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดความกังวลอย่างมากในตลาดและหนุนราคาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยให้ปรับตัวสูงขึ้น
นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก กล่าวว่า ราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นมาหลังสงครามปะทุ หากเกิดความรุนแรงหรือมีการขยายวงกว้างออกไป ราคาทองคำก็อาจจะขึ้นไปต่ออีกได้
“ต้องดูว่าสงครามขยายวงหรือเปล่า คือถ้ามียิงกันไปมา ไม่เหมือนรอบที่แล้วที่ยิงกันทีเดียวแล้วจบ ก็มีโอกาสที่ทองจะขึ้นต่ออีกได้ ซึ่งการลงทุนช่วงนี้สามารถเล่นเก็งกำไรขาขึ้นได้ โดยกรอบให้ที่ 3,400-3,450 ดอลลาร์ ซึ่งหากไม่มีข่าวอะไรเพิ่มเติมแล้วผ่าน 3,450 ดอลลาร์ไปได้ จะแนะนำขายมากกว่า แต่ถ้าสถานการณ์รุนแรงขึ้น แล้วราคาผ่าน 3,450 ดอลลาร์ไป ก็สามารถเข้าซื้อได้”