AOT นัด “คิง เพาเวอร์” บ่าย 17 มิ.ย.นี้ ถกรายรายละเอียด วัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการขอทบทวนสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี ณ สนาบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสนามบินภูมิภาคทั้งภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ หลังบอร์ดเคาะตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขสัญญา เผยหนี้ที่คิงเพาเวอร์ค้างชำระยังไม่เกินวงเงินค้ำ Bank Guarantee ยืนยันสถานะทางการเงินยังแข็งแรงจากกรณีที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ได้มีหนังสือถึง AOT เพื่อขอหารือแนวทางยกเลิกสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานในภูมิภาค (ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายของภาครัฐ
นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เปิดเผยว่า วันนี้ (16 มิถุนายน 2568) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ซึ่งมีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย ประธานกรรมการ AOT เป็นประธานที่ประชุมได้เร่งรัดให้ AOT ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT
และจ้างที่ปรึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบเร่งด่วนอย่างต่ำ 2 รายให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อศึกษาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT โดยเร็ว โดยที่ปรึกษาจะศึกษาประเด็นด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน และการบริหารธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์ข้อจำกัดของสัญญาเดิม รวมถึงเสนอแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยมีเป้ามหายได้ข้อสรุปภายใน 60 วัน ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ AOT ยังได้ประสานงานเพื่อนัดกับทีมผู้บริหารของบริษัทคิงเพาเวอร์ในบ่ายพรุ่งนี้ (17 มิถุนายน 2568) เพื่อเจรจาและสอบถามถึงวัตถุประสงค์ รวมถึงรายละเอียดในการทำหนังสือเข้ามาเพื่อทบทวนสัญญาสัมปทานร่วมกันต่อไป
นางสาวปวีณากล่าวด้วยว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา AOT มีรายได้จากค่าสัมปทานบริษัทคิงเพาเวอร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% จากรายได้รวมทั้งหมด โดยค่าตอบแทนที่คิงเพาเวอร์ค้างชำระอยู่นั้นยังไม่เกินวงเงินค้ำประกันรายได้ (Bank Guarantee) ที่คิงเพาเวอร์วางไว้เป็นหลักประกันตามหลักเกณฑ์ในสัญญา ซึ่งถือเป็นหลักประกันทางการเงินของคู่สัญญาในกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิด
ทั้งนี้ AOT ยืนยันว่าบริษัทฯ ยังมีสถานะทางการเงินมั่นคงแข็งแรงและยังมีแผนหารายได้เพิ่มจากแหล่งอื่นๆ เช่น รายได้จากค่าใช้บริการระบบไฟฟ้า 400 Hz ระบบปรับอากาศ PC AIR โครงการผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 3 และการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานของ AOT ที่จะก่อให้เกิดรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aero nautical Revenue) ซึ่งจะทให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับรองรับโครงการลงทุนในอนาคต และการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้