เหลือเวลาอีก 2 เดือนในการจัดทำเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกให้แล้วเสร็จก่อนภายในเดือนกันยายน 2568 สถานที่สำคัญต่อการนำเสนอ ประกอบด้วยวัดเชียงมั่น วัดอุโมงค์ วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วัดเจ็ดยอด วัดสวนดอก วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ กำแพงเมืองและคูเมืองเชียงใหม่
การขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก คณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เป็นมรดกโลก นำโดยนายบวรเวท รุ่งรุจี นายกสมาคม อิโคโมสไทย ประธานคณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เป็นมรดกโลก นอกจากคณะทำงานชุดนี้ ยังมีการผสานความร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับกับวัดทั้ง 7 แห่ง กำแพงเมืองและคูเมืองเชียงใหม่
นายบวรเวท รุ่งรุจี กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดในการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ อนุสรณ์สถานแหล่งต่างๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา กำหนดเกณฑ์การพิจารณาคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล เพื่อนำเสนอขึ้นมรดกโลก ใน 2 เกณฑ์ คือ เกณฑ์ข้อ 2 แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่วัฒนธรรมใดๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนบ้านเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อ3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมทั้งที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว
สำหรับเมืองเชียงใหม่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีวัฒนธรรมล้านนาเป็นอัตลักษณ์ ปรากฎผ่านสถาปัตยกรรมวัด ประเพณีล้านนา และวิถีชีวิตของชาวล้านนา แต่ละสถานที่โดดเด่น นายบวรเวท กล่าวว่า แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ที่นำเสนอ ประกอบไปด้วยแหล่งวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมล้านนา 8 แหล่ง ได้แก่ 1. กำแพงเมืองและคูเมืองเชียงใหม่ เป็นประจักษ์พยานตั้งแต่แรกสร้างเมืองเชียงใหม่ และเหลือหลักฐานถึงปัจจุบัน 2.วัดเชียงมั่น เป็นวัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ 3.วัดเจดีย์หลวง มีเจดีย์ทรงปราสาทยอดขนาดใหญ่ที่สุดของอาณาจักรล้านนา 4.วัดพระสิงห์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของล้านนา ถือเป็นตัวแทนของวัดในวัฒนธรรมล้านนาที่มีองค์ประกอบของวัดครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด
5.วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) เป็นวัดที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรสุโขทัย ทั้งระบบแบบแผนผังและงานศิลปกรรมที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย และศิลปะพุกาม ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลังกา 6.วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม มีเจดีย์ทรงระฆังต้นแบบของล้านนา ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุกามที่ยังรักษารูปแบบไว้ได้มากที่สุดเพียงองค์เดียว
7.วัดพระธาตุดอยสุเทพ มีเจดีย์ที่สร้างอยู่บนยอดเขาเปรียบเสมือนเจดีย์จุฬามณีที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นรูปแบบหนึ่งของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง และเป็นต้นแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาตอนปลาย ที่นิยมสร้างในเมืองเชียงใหม่ และลำพูน กำหนดเรียกเป็น สกุลช่างเชียงใหม่ 8.วัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอด พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบมาจากมหาวิหารที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ใช้เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกและนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ด้านการเตรียมพร้อมเอกสาร นายกสมาคม อิโคโมสไทย กล่าวว่า จากนี้ไปคณะทำงานจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำเอกสาร เพื่อจัดส่งไปยังศูนย์มรดกโลกตรวจสอบความถูกต้องให้ทันกำหนดภายในเดือนกันยายน 2568 ต่อไป ช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่เกิน 2 เดือนจึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทันกรอบระยะเวลาของศูนย์มรดกโลกกำหนดไว้ต่อไป
หมุดหมายคณะทำงานฯ คาดหวังจะผลักดันให้เชียงใหม่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกภายในปี 2569 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบสมโภชเชียงใหม่ 730 ปี เมืองแห่งวัฒนธรรมศูนย์กลางล้านนาที่ทรงคุณค่ายิ่งในการหวงแหนปกป้องการเป็นมรดกของโลก รวมถึงการสร้างชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในระดับโลก