‘หลวงปู่กินรี จันทิโย’ วัดกัณตะศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระวิปัสสนาจารย์ชื่อดัง เป็นศิษย์ออกติดตามธุดงค์กับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า
มีนามเดิมว่า กลม จันสีเมือง เกิดเมื่อวันพุธที่ 8 เม.ย.2439 ที่บ้านหนองฮี ต.หนองฮี อ.ปลาปาก จ.นครพนม ครอบครัวประกอบอาชีพชาวนา
ในวัย 10 ขวบ บรรพชาที่วัดหนองฮี ต.หนองฮี อ.ปลาปาก จ.นครพนม ศึกษาหนังสือธรรม หนังสือผูก ภาษาขอม ภาษาไทยน้อย (อักษรธรรม) และภาษาไทยปัจจุบัน
อายุครบ 20 ปีเข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดเกาะแก้วอัมพวัน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม แต่ด้วยความการร้องขอจากบิดา-มารดา จึงลาสิกขาตามความประสงค์ของบุพการี และประกอบอาชีพเป็นนายฮ้อยค้าวัว-ควาย
เนื่องจากอาชีพดังกล่าวต้องพรากพ่อแม่ลูกโค-กระบือ ผลกรรมจึงตามย้อนสนองให้ต้องสูญเสียภรรยาหลังคลอดบุตร สร้างความโศกเศร้าเป็นยิ่งนัก
จึงละวางทางโลก เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง ณ วัดศรีบุญเรือง ต.กุดตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2465 ขณะมีอายุ 25 ปี โดยมีพระอาจารย์วงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พิมพ์และพระอาจารย์พรหมาเป็นพระคู่สวด
ได้ชื่อใหม่จากพระอุปัชฌาย์จากชื่อเดิม กลม เป็น “กินรี” มีฉายาว่า จันทิโย
อยู่จำพรรษที่วัดหนองฮี ต.หนองฮี อ.ปลาปาก สอนภาษาไทยทั้งการอ่านและเขียนให้แก่เด็กๆ ในหมู่บ้าน และยังขุดลอกสระน้ำขนาดใหญ่ด้วยตัวเอง เพื่อให้วัดและชาวบ้านได้มีน้ำอุปโภคบริโภค
ต่อมาไปศึกษาเล่าเรียนกัมมัฏฐานจากพระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล ที่สำนักบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ได้ระยะหนึ่งจึงเดินทางกลับสู่วัดบ้านเกิด และได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ชื่อว่าสำนักสงฆ์เมธาวิเวก
ครั้งหนึ่งพระอาจารย์ทองรัตน์ได้พาไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เพื่อรับโอวาทถึงข้อธรรม พร้อมกับการเจริญสมาธิ ภาวนาจิตให้สงบ ซึ่งท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับหลวงปู่มั่นเพียง 2 ปีเท่านั้น
เดินธุดงค์มุ่งไปตามป่าเขา เลาะเลียบฝั่งโขงไปฝั่งลาว กราบนมัสการพระพุทธบาทโพนสัน กระทั่งไปจำพรรษาอยู่กับเผ่าแม้วที่ จ.อุตรดิตถ์ ฉันแต่ข้าวโพด ธุดงค์ข้ามไปย่างกุ้ง ประเทศพม่า และได้รับนิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดกุลาจ่อง ก่อนมุ่งหน้าไปสู่แดนพุทธภูมิเพื่อนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 และจำพรรษานาน 12 ปี จนพูดภาษาพม่าได้ จากนั้นจึงกลับมาพักอยู่สำนักสงฆ์เมธาวิเวกระยะหนึ่ง ก่อนย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดกัณตะศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม
ระหว่างนี้ยังแวะเวียนไปหาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และพระอาจารย์ทองรัตน์อยู่เป็นนิจ ซึ่งท่านยังมีลูกศิษย์ที่สำคัญรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงคือ หลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง ที่ได้อยู่จำพรรษาศึกษาปฏิบัติธรรมและคอยอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรี ในระหว่างปี พ.ศ.2490-2491 ก่อนจะนำพระพุทธศาสนาไปประกาศเผยแผ่ไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก
เป็นพระที่ยึดมั่นในศีลธรรม จะคอยอบรมลูกศิษย์อย่าประมาทในศีล แม้สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ในพระวินัยจะประมาทไม่ได้เด็ดขาด
มีโรคประจำตัวคือไออยู่เป็นนิจ เนื่องจากปอดชื้น แต่ท่านไม่ยอมให้หมอรักษาหรือยอมให้ศิษย์นำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ด้วยความชราภาพ ทำให้สภาพร่างกาย ไม่แข็งแรงดังแต่ก่อน และนับวันมีแต่อาการอาพาธจะทรุดลง
กระทั่งวันที่ 26 พ.ย.2523 จึงละสังขารจากไปอย่างสงบ สิริอายุ 84 ปี พรรษา 58
ในปี พ.ศ.2521 คณะศิษย์ นำโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสมัยนั้น จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นเหรียญเป็นที่ระลึกเพื่อนำไปแจกทหารหาญในสังกัด และส่วนหนึ่งนำรายได้มอบให้วัด
เป็นรูปทรงคล้ายดอกจิก มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง แต่ไม่ทราบจำนวนจัดสร้างอย่างแน่ชัด
ด้านหน้ามีเส้นสันขอบนูน ใกล้ขอบจากซ้ายไปขวาเขียนคำว่า “วัดกัณตะศิลาวาส อ.ธาตุพนม จ.นครพนม” กลางเหรียญมีรูปเหมือนหน้าตรงหลวงปู่ครึ่งองค์ลอยนูนเด่น ตรงจีวรตอกโค้ดสัญลักษณ์คล้ายดอกบัว ด้านล่างสลัก “หลวงปู่กินรี จนฺทิโย”
ด้านหลังมีเส้นสันขอบนูน ขอบจากซ้ายมียันต์อักขระนับได้ 12 ตัว ด้านขวา 10 ตัว ตรงกลางเหรียญมีตราสัญลักษณ์กองบัญชาการทหารสูงสุด ถัดลงมาสลักคำว่า “ที่ระลึกจาก” ระบุยศ “พล.อ.” พร้อมลายเซ็น “เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ๒๑พ.ค.๒๑”
คาดว่าเป็นเหรียญวัตถุมงคล 1 ใน 4 รุ่นที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้จัดสร้างไว้ ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทย ทุกวันนี้เป็นเหรียญหายาก