ผู้นำแรงงานแนะประกันสังคมสำรวจให้ชัดก่อนผลิต ‘ปฏิทิน’ ชี้ผู้ประกันตนต้องการนับหมื่น
GH News July 01, 2025 12:01 PM

ผู้นำแรงงานแนะประกันสังคมสำรวจให้ชัดก่อนผลิต ‘ปฏิทิน’ ชี้ผู้ประกันตนต้องการนับหมื่น

วันนี้ (1 กรกฎาคม 2568) นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เปิดเผยหลังคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ได้ลงมติให้มีการผลิตปฏิทินประกันสังคมปี 2569 ต่อ โดยมอบหมายให้อนุกรรมการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียดำเนินการวางแผนการผลิต ว่า ตนในฐานะประธานสภาฯ และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรี ต้องขอขอบคุณบอร์ดประกันสังคมที่เห็นชอบให้ผลิตปฏิทินต่อ ซึ่งที่ผ่านมา สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาฯ ได้เคยยื่นหนังสือต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อสนับสนุนให้ดำเนินการผลิตต่อ โดยได้นำเสนอข้อมูลและรายละเอียดประกอบไว้อย่างครบถ้วน

“ถือเป็นทิศทางที่ดี สำหรับการที่บอร์ดประกันสังคมยังเห็นความต้องการของผู้ประกันตน สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาฯ เคยได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดส่งถึงรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดฯ เลขาธิการ สปส. และบอร์ดฯ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่อยู่ในต่างจังหวัด มักเข้าไม่ถึงข้อมูล และยังเล็งเห็นถึงประโยชน์ของปฏิทินประกันสังคม เพราะทำให้ได้รับรู้สิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีของประกันสังคมที่ระบุไว้ในปฏิทิน” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวอีกว่า จากการหารือกับสมาชิกองค์การลูกจ้างพัฒนาฯ พบว่ายังมีผู้ประกันตนจำนวนมากที่ต้องการและสนับสนุนให้มีปฏิทินประกันสังคม ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6-7 หมื่นคน รวมถึงอีกหลายสภาพแรงงานในสถานประกอบการขนาดใหญ่ก็ยังมีความต้องการเช่นกัน

“อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจในแบบสอบถามของ สปส. พบว่า ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง ร้อยละ 62 และนายจ้าง ร้อยละ 66 ที่ต้องการให้ยกเลิกการทำปฏิทิน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับปฏิทินมาก่อน เนื่องจากการแจกจ่ายในแต่ละปีจะมอบให้หน่วยงานหรือองค์กรที่จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานเป็นหลัก โดยการผลิตปีละ 4-5 ล้านฉบับนั้น ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกันตนที่มีมากกว่า 24 ล้านคน แม้บางส่วนจะต้องการให้ยกเลิก แต่ก็มีข้อเสนอว่า ควรต้องกระจายให้ทั่วถึงมากกว่านี้ จึงจะสนับสนุนการผลิตปฏิทินต่อ” นายมนัส กล่าว

นายมนัส ยังเสนอแนวทางเพิ่มเติมว่า หาก สปส.จะผลิตปฏิทินในปี 2569 หรือปีถัดไป เช่น 2570 ขอให้เปิดให้ผู้ประกันตนที่ต้องการปฏิทินมาลงทะเบียนกับ สปส. เนื่องจากการผลิตปีละ 4-5 ล้านฉบับ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะแบบตั้งโต๊ะที่ผลิต 1 ล้านฉบับ และแบบแขวนอีกประมาณ 4 ล้านฉบับ ซึ่งยังไม่ตอบสนองต่อจำนวนผู้ต้องการทั้งหมด โดย สปส. จะต้องสำรวจให้ชัดเจนว่ามีกลุ่มเป้าหมายใดบ้างที่ต้องการปฏิทิน รวมถึงอาจจะเปิดให้ผู้ประกันตนทุกมาตราแจ้งความจำนงผ่านช่องทางของ สปส. เพื่อให้สามารถแจกจ่ายได้ตรงกลุ่ม

“จะต้องให้ สปส. ช่วยกระจายสื่อหรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนได้ทราบกันอย่างทั่วถึง และมองว่าการผลิตปฏิทินในรูปแบบกระดาษ อาจจะไม่จำเป็นในอนาคต โดย สปส.ควรส่งเสริมผู้ประกันตนให้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เช่น ทำเป็นรูปแบบบนแพลตฟอร์มในโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงปฏิทิน และเป็นการประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่จะมีการปรับสัดส่วนการผลิตหรือไม่นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอนุกรรมการฯ เนื่องจากคาดว่ามีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว หรืออาจมีการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้าไปแล้ว

“การผลักดันให้กองทุนประกันสังคมเติบโตและเดินหน้าอย่างมั่นคง ต้องมองไปถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน เช่นที่ผ่านมา ผมเคยผลักดันให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 70 เท่ากับกองทุนเงินทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยปัจจุบัน เงินทดแทนกรณีว่างงานอยู่ที่อัตราร้อยละ 60 จากเดิมร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน” นายมนัส กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.