ในยุคที่โลกพัฒนาขึ้นอย่างก้าวหน้า รูปแบบการเรียนรู้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ผู้เรียนจึงไม่อาจพึ่งพาแค่ความรู้พื้นฐาน แต่ยังต้องเร่งพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์อนาคต โดยเฉพาะการเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่าง AI
หนึ่งในกลไกสำคัญที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์นี้คือ Adaptive Education Platform แพลตฟอร์มติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลการเรียนรู้แบบรายบุคคล ที่พัฒนาขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ
แพลตฟอร์มนี้มีเป้าหมาย เพื่อติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และแนะนำเนื้อหาที่เหมาะสมกับศักยภาพและความสนใจของผู้เรียนได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทั้งครูและนักเรียนสามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้อย่างเป็นระบบ ตรงจุด และเต็มศักยภาพของแต่ละคนอย่างแท้จริง
สำหรับ Adaptive Education Platform ให้บริการด้วย 4 เทคโนโลยีหลักในการติดตามและประเมินผลการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ได้แก่ 1. BookRoll ระบบติดตามพฤติกรรมการอ่านเอกสาร PDF วิเคราะห์ว่าผู้เรียนใช้เวลาอ่านจุดใด ขีดเน้นตรงไหน หรือมีข้อสงสัยส่วนใด 2. KidBright Simulator ระบบจำลองการเรียนรู้โค้ดดิ้งแบบบล็อก (Blockly) ติดตามความเร็ว จุดแก้ไข และจำนวนบล็อกที่ใช้ เพื่อประเมินทักษะคิดวิเคราะห์ 3. VIOLA วิเคราะห์การเรียนรู้ผ่านวิดีโอ เช่น เวลาในการดู การย้อนดู และผลจากแบบทดสอบ เพื่อวัดความเข้าใจในเนื้อหา และ 4. Abdul for Education แชตบอตที่ใช้ติดตามคำตอบของผู้เรียน วิเคราะห์ว่าเข้าใจเนื้อหาหรือไม่จากคำตอบที่เลือกหรือตอบกลับ
ปัจจุบัน Adaptive Education Platform ได้เริ่มนำไปใช้จริงในห้องเรียนแล้ว โดยคณะทำงานได้จัดการอบรมครูผู้สอนในโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 750 แห่ง มีครูผ่านการฝึกอบรมแล้วมากกว่า 1,500 คน และเริ่มใช้งานร่วมกับผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายอย่างเป็นทางการ แบ่งหลักสูตรการเรียนระดับละ 5 โมดูล รวม 10 โมดูล ตั้งแต่เปิดภาคเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็น 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลกที่มีการพัฒนาหลักสูตร AI เป็นของตนเอง
โดยโรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ที่มีนักเรียนเข้าใช้งานแพลตฟอร์มในจำนวนมาก และสามารถแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างการใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับครู และนักเรียน สะท้อนแนวทางการศึกษายุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย เนคเทค สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ Adaptive Education Platform กล่าวว่า LEarning analytics of ADaptive Educationหรือ LEAD Education ได้รับการออกแบบมาเพื่อยกระดับการจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ผู้เรียนรายบุคคล โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากพฤติกรรมการเรียนรู้จริงของนักเรียนบนระบบอีเลิร์นนิง ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การดูวิดีโอ การตอบคำถาม หรือการฝึกโค้ดดิง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลอย่างชาญฉลาด เพื่อปรับเปลี่ยนเนื้อหาการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับศักยภาพ
ดร.เสาวลักษณ์ กล่าวว่า ดังนั้นการออกแบบ Adaptive Education Platform สามารถพัฒนาให้มีความแม่นยำและยืดหยุ่นสูง ช่วยลดภาระของครูในการติดตามผล และเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการสอนให้ตรงจุดยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นเสมือนโค้ชส่วนตัวของผู้เรียน ที่คอยแนะนำเนื้อหาหรือแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุดกับแต่ละบุคคล
เอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า จากผลการสำรวจระดับนานาชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า 57% ของนักเรียนมีการเรียนรู้เกี่ยวกับ AI ด้วยตนเอง และมีเพียง 17% เท่านั้นที่ได้เรียนรู้จากครูผู้สอน สำหรับในประเทศไทย ที่ทาง สพฐ. ได้สำรวจพบว่า 8.3% ของครูยังไม่เคยใช้ AI เลย, 48.3% ครูใช้ AI ในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพ, 22.6% ครูเริ่มนำ AI ไปใช้กับการเรียนการสอนบางส่วน และอีกประมาณ 20% คือครูที่ใช้ AI อย่างสม่ำเสมอในงานวิชาชีพ
“โดยนักเรียนกลับมีการใช้งาน AI นำหน้าครูไปแล้ว เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งยิ่งตอกย้ำความจำเป็นของการวางระบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับทิศทางโลก โดยเฉพาะการสอนให้นักเรียนใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเข้าใจหลักจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี” เอกสิทธิ์ กล่าว
เอกสิทธิ์ กล่าวต่อว่า Adaptive Education Platform ในขณะนี้ได้นำร่องใช้ในโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้ง 62 เขต ซึ่งมีนักเรียนที่เข้าเรียนแล้วกว่า 41,000 คน คาดว่าจะมีนักเรียนเข้าเรียนได้ตามเป้าไม่น้อยกว่า 140,000 คน 750 โรงเรียน แพลตฟอร์มนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางของ OECD ซึ่งประกาศว่า ปี PISA 2029 จะเริ่มมีการสอบ AI Literacy หรือความเข้าใจด้าน AI ซึ่งเป็นการเตรียมเด็กไทยล่วงหน้าถึง 4 ปี เพื่อให้พร้อมเข้าสู่การประเมินในระดับนานาชาติ
เอกสิทธิ์ กล่าวถึงแนวทางที่โรงเรียนสามารถนำแพลตฟอร์ม Adaptive Education Platform มาบรรจุลงในวิชาเพิ่มเติมของนักเรียน เหมือนรายวิชาทั่วไป นักเรียนสามารถเรียนตามความสามารถ โรงเรียนก็สามารถปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น ระดับม.ต้น ใช้เวลาเรียนประมาณ 20 ชั่วโมง ม.ปลายประมาณ 60 ชั่วโมง หรือสามารถจัดเป็นค่ายหรือชุมนุมก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการเรีบนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้ครูและนักเรียนได้สัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่
“ภายในปีนี้คาดว่าจะมีการพัฒนาหลักสูตรภายในแพลตฟอร์มสำหรับนักเรียนในประดับประถมศึกษา เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในยุคที่เทคโนโลยี AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติ” เอกสิทธิ์ กล่าว
ดร.จีระพร สังขเวทัย ผู้อำนวยการสาขาเทคโนโลยี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติแรกของเอเชียที่ริเริ่มหลักสูตร “ปัญญาประดิษฐ์ (AI)” สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 หลักสูตรนี้พัฒนาจากแนวทาง AI4K12 และ AI Competency Framework ของยูเนสโก ปรับให้เหมาะสมกับนักเรียนระดับประถมถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีโครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วย 5 โมดูล ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ AI, Supervised Learning, การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP), คอมพิวเตอร์วิชัน (Computer Vision) ไปจนถึง Generative AI โดยเน้นการใช้งานจริง จริยธรรม และผลกระทบต่อสังคม ผู้เรียนจะได้รับทักษะด้านการคิดเชิงคำนวณ วิเคราะห์ข้อมูล ออกแบบระบบ AI และจริยธรรมที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะต่อยอดสู่การเป็นนักพัฒนาดิจิทัลรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุค AI อย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.ศุภากร เมฆขยาย ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้ที่สามารถออกแบบการเรียนรู้ด้าน AI สำหรับนักเรียนได้อย่างเป็นระบบ แตกต่างจากการใช้งานทั่วไปที่หลายคนยังใช้ AI โดยไม่เข้าใจวิธีการใช้ที่ถูกต้องหรือไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยที่โรงเรียนจะใช้เป็นวิชาเพิ่มเติมของนักเรียนชั้นม.3 และม.6 ซึ่งครูจะออกแบบการเรียนรู้ในแต่ละเทอมให้สอดคล้องกับโมดูลที่กำหนดไว้อย่างมีลำดับและเห็นผลเป็นรูปธรรม ขณะนี้มีนักเรียนประมาณ 1,100 คนที่ลงทะเบียนเรียน และมีนักเรียนกว่า 600 คนที่เรียนจบโมดูลแรกแล้ว ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญให้โรงเรียนสามารถพัฒนาเด็กได้อย่างต่อเนื่อง
กรกันต์ ดิตถ์อัศวณิช ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว กล่าวว่า ตัวอย่างการสอนใน Module จริยธรรมและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ AI นักเรียนสามารถศึกษาวิวัฒนาการของ AI ด้วยตนเองผ่านคลิปวิดีโอหรือเอกสารประกอบ ก่อนมาร่วมทำกิจกรรมในชั้นเรียน เช่น เล่นเกมตอบคำถาม และสรุปเนื้อหาร่วมกัน ซึ่งช่วยเสริมการเรียนรู้ซ้ำและทบทวนได้ตลอดเวลา และยังมี Dashboard สำหรับครู ใช้ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนแบบรายบุคคล เช่น เปอร์เซ็นต์การเรียน คะแนนแบบทดสอบ และจุดเด่นจุดด้อย ทำให้สามารถออกแบบการสอนหรือกิจกรรมเฉพาะกลุ่มได้อย่างเหมาะสม ในอนาคตอยากให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็น Ecosystem ทางการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ครอบคลุมตั้งแต่การลงทะเบียน การส่งงาน กิจกรรมในชั้นเรียน ไปจนถึงการประเมินผล เพื่อให้ครูสามารถบริหารจัดการการเรียนการสอนได้อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นิสา ชนะพาห์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว เล่าว่า ปกติจะมีการใช้เอไอในการค้นหาข้อมูลหรือพูดคุย อย่าง ChatGPT ที่มีการใช้เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ หรือหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ ซึ่งพอโรงเรียนมีหลักสูตรเอไอที่เป็นระบบ ทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียน เนื่องจากสามารถเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่จำกัดเวลา หลังจากเรียนในเนื้อหาแล้ว ครูจะออกแบบกิจกรรมในห้องเรียน เช่น การเล่นเกมเพื่อทบทวนและเสริมความเข้าใจ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างแรงจูงใจในการเรียนมากขึ้น และเริ่มมีความเข้าใจในจริยธรรมของการใช้ AI เช่น การรู้ว่าอะไรควรใช้หรือไม่ควรใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อของโมดูลแรกในหลักสูตร ที่เน้นการปูพื้นฐานเกี่ยวกับความหมาย ประวัติ และแนวทางการใช้ AI อย่างถูกต้องและมีจริยธรรม