SUPER LBA รุ่นที่ 2 ประเดิม Module แรกของหลักสูตรฯ เจาะลึกมุมมอง Soft Power ไทย และประเด็นทางกฎหมายที่ช่วยต่อยอดธุรกิจ พร้อมระดมความคิดเห็น หา Pain Points ด้านกฎหมาย และร่วมกันออกแบบมาตรการแก้ไขปัญหาผ่าน Design Legal Thinking Process สู่โอกาสธุรกิจระดับโลก
หลักสูตร Super Legal Business Administration Leadership Program (SUPER LBA) รุ่นที่ 2 โดยคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้จัดการเรียนการสอนครั้งที่ 2 โดยประเดิม Module 1 ในธีม "Key Success and Digital Mindset ในการบริหารสำหรับผู้นำยุคดิจิทัล" เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสนม สุทธิพิทักษ์ อนุสรณ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถแก่ผู้นำองค์กรด้วยการบูรณาการความรู้ด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยุคใหม่
กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นด้วยการบรรยายจาก ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ ซึ่งได้มอบมุมมองอันลึกซึ้งเกี่ยวกับ "Soft Power ในยุคดิจิทัล" โดยการบรรยายนี้มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในเรื่อง Soft Power โดยยกกรณีศึกษาจากทั่วโลกที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมกันคิดหาทางพัฒนาสร้างโอกาส Soft Power ของไทย ให้ไปได้ไกลกว่าเดิม
หลังจากนั้นได้มีการจัด Workshop เชิงปฏิบัติการ “ถอดรหัส Pain Points ผลกระทบของกฎหมายด้วยกระบวนการ Design Legal Thinking Process เพื่อให้การบริหารธุรกิจประสบความสำเร็จ” ซึ่ง คุณเมย์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Asian Leadership Academy และบริษัทลูกคิด (LUKKID) จำกัด เป็นผู้นำในช่วงต้นของ Workshop โดยคุณเมย์ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และแม้แต่นักกฎหมายต้องเรียนรู้ Design Legal Thinking Process เพื่อเชื่อมโยงเจตนารมณ์ของกฎหมายเข้ากับความต้องการของผู้ใช้
คุณเมย์ ยังได้อธิบายถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าวว่า “โลกธุรกิจในปัจจุบันหมุนเร็ว แต่กระบวนการทางกฎหมายยังคงซับซ้อนและห่างไกลจากผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นวิธีคิดแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ทำให้จำเป็นต้องเรียนรู้ Design Legal Thinking Process ซึ่งเป็นกระบวนการคิดเชิงกฎหมายอย่างสร้างสรรค์เพื่อเชื่อมโยงเจตนารมณ์ของกฎหมายเข้ากับความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง”
การจัด Workshop ในกระบวนการ Design Legal Thinking ครั้งนี้ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร SUPER LBA รุ่นที่ 2 เพื่อระดมสมองระบุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายในการบริหารธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเข้ามาของ AI การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และความต้องการการสนับสนุนด้านกฎหมาย โดยให้ความสำคัญกับการมองปัญหาจากหลากหลายมุมมอง และหลากหลายมิติ
โดยจากการระดมความเห็นพบว่า ปัญหาด้านกฎหมายที่สำคัญมีหลากหลาย อาทิ กฎหมายล้าสมัยไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายที่ถูกต้องและทันสมัย นอกจากนี้ยังมีประเด็นความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างองค์กรอิสระ ศาล และหน่วยงานราชการ ซึ่งนำไปสู่การตีความกฎหมายที่ไม่เป็นมาตรฐานและความล่าช้าของระบบราชการ
ผู้เข้าร่วมยังได้หยิบยกประเด็นกฎหมายที่มีความซับซ้อน ขัดแย้งกันเอง และไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นและความลำบากในการทำธุรกิจ รวมถึงกฎหมายไทยที่ไม่ทันสมัย โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
ประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ถูกนำเสนอคือ “ปัญหาคอร์รัปชัน” ที่เป็นแก่นหลักที่ทำให้การทำธุรกิจไม่ราบรื่น และความท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น พนักงานนำข้อมูลความลับไปใช้กับ AI ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลและปัญหา PDPA ตลอดจนกฎหมายบางประเภทที่ออกมาบ่อยครั้งจนยากต่อการติดตาม และผลกระทบจาก ESG และภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้ง 7 กลุ่ม ได้ร่วมกันนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมที่หลากหลาย อาทิ การบูรณาการความรู้ทางกฎหมายเข้าสู่ระบบการศึกษาพื้นฐาน การพัฒนาแพลตฟอร์ม AI เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและกระบวนการทางกฎหมาย การเสนอแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้โปร่งใสและรวดเร็วยิ่งขึ้น การปรับบทบาทของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนภาคประชาชน รวมถึงการเสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการภาครัฐ
ในช่วงท้ายของการเรียนรู้เป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "นวัตกรรมสมุนไพรไทยสร้างเศรษฐกิจ-โอกาสทองของประเทศไทย" โดย ภก. รศ. ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ คณบดีวิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส DPU และผู้เชี่ยวชาญ 1 ใน 12 ด้านสมุนไพรของสหประชาชาติ ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีภูมิปัญญาและตำรับยาสมุนไพรโบราณที่มีประสิทธิภาพสูงจำนวนมาก ซึ่งหากได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากปัญหาวิกฤตสุขภาพของมนุษยชาติในปัจจุบันที่ยาเคมีไม่สามารถรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ให้หายขาดได้ พร้อมกันนี้ ดร.สุรพจน์ยังระบุว่า ตลาดยาสมุนไพรโลกมีมูลค่าสูงมาก และทวีปยุโรปเป็นผู้ใช้ยาสมุนไพรมากที่สุดในโลก โดยมีประเทศเยอรมนีเป็นอันดับหนึ่ง
ในส่วนของความสำเร็จและแนวโน้มในอนาคต ดร.สุรพจน์เผยถึงความทุ่มเทในการพัฒนาสมุนไพรที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปี โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จจากการสร้างคลินิกแพทย์แผนไทยพรีเมียมแห่งแรกของประเทศ ซึ่งจะเป็นต้นแบบในระดับโลกต่อไป และเพื่อตอกย้ำถึงความสำเร็จดังกล่าว ดร.สุรพจน์ยังได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในการรักษาสารพัดโรค NCDs ด้วยตำรับยาแผนไทย ที่ผ่านการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยจริง นอกจากนี้วิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส ของ DPU ยังเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาสารสกัด การผลิต การสร้างคลินิกแพทย์แผนไทยพรีเมียมที่เป็นต้นแบบ ไปจนถึงการให้บริการนวดบำรุงสมอง หรือ Smart Brain ที่ใช้เวลาเพียง 8 นาที โดยได้นำทีมแพทย์แผนไทยผู้เชี่ยวชาญมาให้บริการแก่ผู้เข้ารับการอบรมด้วย
ทั้งนี้ ดร.สุรพจน์ ยังเน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ประเทศไทย หากพัฒนาสมุนไพรจากภูมิปัญญาไทยด้วยหลักฐานและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะตอบสนองความต้องการของตลาดโลก และสร้างความมั่นคงทั้งระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยระบุว่า "นวัตกรรมสมุนไพรไทยจะเกิดขึ้นและยกระดับไปสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืนได้ กฎหมายเป็นหัวใจที่สำคัญที่จะต้องช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนฟันเฟืองต่างๆ ให้ไปด้วยกัน ซึ่งจะทำได้หรือไม่นั้น คำตอบอยู่ที่ประเทศไทย จงภูมิใจในความเป็นไทย เหลือแต่เพียงว่าคนไทยบนผืนแผ่นดินนี้ จะคิดพัฒนาสิ่งใดเพื่อก้าวสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนของประเทศเรา" เพื่อให้สมุนไพรไทยเป็น "ความหวังใหม่" ของมนุษยชาติ และสามารถ “สร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" บนฐานภูมิปัญญาของไทยสู่ตลาดโลกได้อย่างแท้จริง