วันนี้ (2 กรกฎาคม 2568) สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานฝ่ายฆราวาส เป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาวิชาการสานพลังผู้นำศาสนากับการส่งเสริมสุขภาพ แบบองค์รวม ครั้งที่ 2 โดยมี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารงานหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมงาน ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งพระภิกษุสงฆ์สูงอายุเป็นกลุ่มหนึ่งที่พบว่าป่วยเป็นโรค NCDs เพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดโครงการ “พระสงฆ์ปลอดโรค NCDs สุขภาพดีทั่วไทย” เพื่อส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ ให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนนโยบายลดโรค NCDs ด้วยการส่งต่อความรู้ในการดูแลสุขภาพ ลดโรค NCDs ไปสู่พระสงฆ์และประชาชนในชุมชน โดยตั้งเป้าหมายถวายการตรวจคัดกรองโรค NCDs และระบุพิกัดพระสงฆ์ที่ป่วยด้วยโรค NCDs ให้ได้ร้อยละ 80 ของพระสงฆ์ทั่วประเทศ
“กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงได้สัมมนาวิชาการสานพลังผู้นำทางศาสนากับการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์และผู้นำทางศาสนาในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยนำแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาวะที่ดีร่วมกับบูรณาการขับเคลื่อน ถ่ายทอดนวัตกรรมและขยายผลการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลและส่งเสริมสุขภาวะให้กับผู้นำ ทางศาสนาและพระคิลานุปัฏฐาก” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์แบบบูรณาการภายใต้กรอบแนวทางธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติผ่านโครงการวัดส่งเสริม สุขภาพ และพระคิลานุปัฏฐาก มาตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้มีวัดส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์จำนวน 21,718 วัด และพระคิลานุปัฏฐาก มากกว่า 15,294 รูป ขยายผลไปสู่มัสยิดส่งเสริมสุขภาพ จำนวน
56 แห่ง และโบสถ์ส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 23 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2568)
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนและพระสงฆ์ ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยหลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้จัดทำโครงการอโรคยสถาน หรือ Health Station at Temple เพื่อเป็นการยกระดับวัดส่งเสริมสุขภาพให้มีสถานีสุขภาพสำหรับพระสงฆ์และคนในชุมชน และต่อยอดศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก ให้สามารถเป็นผู้คัดกรองและให้คำแนะนำ การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในวัดและชุมชน โดยมีขั้นตอน ดังนี้1) การคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงวัดความดันโลหิต ตรวจวัดน้ำตาลในเลือด (DTX) ดัชนีมวลกาย รอบเอวและอื่นๆ 2) ประเมินสถานะสุขภาพ บันทึกข้อมูล ลงทะเบียนผ่าน Digital Health Platform 3) ติดตามกลุ่มเสี่ยง ได้รับคำแนะนำการจัดการความเสี่ยง
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) 4) กลุ่มป่วย ได้รับการส่งต่อรักษาและติดตาม สถานะสุขภาพ กรมอนามัย จึงได้นำแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) เพื่อเป็นแนวทางการจัดการสุขภาพพระสงฆ์ ตามหลักพระธรรมวินัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี6 แนวทาง 1) โภชนาการ 2) กิจกรรมทางกาย 3) การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ 4) การควบคุมความเครียด5) หลีกเลี่ยงสารเสพติด สารเข้าสู่ร่างกาย และ 6) การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง โดยพระสงฆ์เป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยเทศนาธรรมและสื่อสารด้านพฤติกรรมสุขภาพ (พระนักเทศน์) โดยกลไกสำคัญในการพัฒนา คือการสร้างและพัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (พระอสว.) ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองและให้คำแนะนำดูแลสุขภาพพระสงฆ์ภายในวัด และชุมชนเพื่อพร้อมทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชน มุ่งให้เกิด “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ต่อไป
“สำหรับการจัดสัมมนาวิชาการสานพลังผู้นำทางศาสนากับการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ครั้งที่ 2 นี้ เป็นการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์โดยตรงที่เกื้อหนุนต่อกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพของพระภิกษุ สามเณรและพุทธศาสนิกชนในชุมชน เกิดเป็น “วัดเป็นศูนย์กลางสุขภาพชุมชน” ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ภายใต้การสนับสนุนและกำกับโดยฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัยโดยมีแนวปฏิบัติการอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย และพระสงฆ์มีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชน และสังคม โดยก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชนทำให้พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุขตามวิถีชีวิตและบริบทสังคมไทย และเพื่อเป็นการพัฒนาขยายผลต่อยอดไปยังศาสนาอื่นๆ สืบไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว