มาริษ ยืนยัน ไทยไม่ตอบโต้กัมพูชาผ่านโซเชียลมีเดีย แต่จะใช้ช่องทางทูต ย้ำการแทรกแซงของผู้นำกัมพูชาขัดกฎหมายระหว่างประเทศ และ MOU 2543 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเปรียบ
(วันที่ 3 กรกฎาคม 2568) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงท่าทีและแนวทางการดำเนินการของประเทศไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยยืนยันอย่างหนักแน่นว่า รัฐบาลไทยจะไม่ใช้วิธีการตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่จะยึดมั่นในช่องทางทางการทูตและกลไกทวิภาคีเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาล และกองทัพจะปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างเต็มที่
นายมาริษ กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้ฝ่ายไทยดำเนินการตอบโต้กัมพูชาแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาท และช่องทางที่เป็นทางการในการสื่อสาร หากไปใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ โอกาสที่จะเกิดความไม่เข้าใจกันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทย และรัฐบาลไทย ไม่ต้องการตอบโต้ฝ่ายใดผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะไม่ใช่ช่องทางทางการ และจะชี้แจงผ่านช่องทางทางการเท่านั้น
กรณีที่ผู้นำกัมพูชาได้แสดงความเห็นในลักษณะที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลไทย นายมาริษ ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีเนื้อหา แทรกแซงกิจการภายในของไทย ซึ่งขัดต่อกฎบัตรอาเซียน และกฎหมายระหว่างประเทศ และได้สั่งการให้มีการสื่อสารเรื่องนี้ไปยังประชาคมโลกในช่องทางที่เหมาะสมแล้ว
ส่วนกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาพยายามนำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลโลกนั้น นายมาริษย้ำว่า ไทยไม่ได้รับเขตอำนาจศาลโลกในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2503 ดังนั้นศาลโลกจึงไม่มีอำนาจพิจารณาและไม่ได้สร้างความกังวลใด ๆ ให้กับฝ่ายไทย
ชี้แจง MOU 2543 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเปรียบนายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ชี้แจงเพิ่มเติมถึงข้อกังวลที่ว่าบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2543 ทำให้ไทยเสียเปรียบว่า ไม่เป็นความจริง แต่ MOU ฉบับนี้คือกลไกทวิภาคีที่สำคัญ และมีผลผูกพันทั้งสองฝ่ายให้ต้องปฏิบัติตาม โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) เป็นเวทีหลักในการเจรจา ซึ่งหากฝ่ายกัมพูชามีข้อกังวลในพื้นที่ใด ก็สามารถนำประเด็นนั้นเข้าสู่กระบวนการของ JBC ได้
อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ เปิดเผยว่า การประชุม JBC เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้ทราบถึงสถานะของหลักเขตแดนทั้ง 73 หลัก และได้ตกลงที่จะใช้เทคโนโลยีโดรนในการจัดทำแผนที่ร่วมกันเพื่อเพิ่มความแม่นยำ ส่วนกระแสข่าวที่ว่าไทยยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ของกัมพูชานั้น ขอยืนยันว่า ไม่มีการหารือในประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม JBC และมองว่าอาจเป็นเทคนิคของอีกฝ่ายในการส่งสัญญาณที่คลาดเคลื่อน
นายมาริษ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเจรจาเรื่องเขตแดนไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา แต่ขอยืนยันว่ารัฐบาล โดยการนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะปกป้องอธิปไตยของประเทศอย่างแน่นอน และไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียใด ๆ ทั้งสิ้น เป้าหมายสูงสุดคือการหลีกเลี่ยงการปะทะ และทำให้ประชาชนบริเวณชายแดนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุขได้