ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านเศรษฐกิจในภาคการเกษตร การส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพดีที่ยั่งยืน กลายเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้แก่ชาวนาไทย
ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี กรมการข้าว จึงได้เร่งขับเคลื่อนโครงการที่เน้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสุขภาพผู้บริโภค และด้านรายได้ของเกษตรกร โดยส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพดี เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืนผ่าน “โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง”
กุลชนา ดาร์เวล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวแพร่ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง โดยจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ภายในพื้นที่ของศูนย์บริการดังกล่าว ซึ่งมีการปลูกข้าวพันธุ์ กข43 ด้วยวิธีปักดำ ข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อหุงสุกจะมีความนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอม และมีจุดเด่นที่สำคัญคือมีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง จึงเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่เป็นโรคเบาหวานหรือผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ
ในด้านการจัดการศัตรูพืช ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ได้นำแนวคิด “นิเวศวิศวกรรม” (Ecological Engineering) มาใช้ในการบริหารจัดการแมลงศัตรูข้าว โดยเน้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศของนาข้าว สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการพึ่งพาการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชร่วมระบบรอบแปลงนา โดยเฉพาะพืชมีดอกที่ให้น้ำหวานซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของแมลงที่มีประโยชน์ เช่น ดอกดาวเรือง ถั่วบราซิล รวมถึงผักสวนครัวที่มีดอกสีเหลืองอย่างบวบ แตงกวา และน้ำเต้า ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืชแบบชีววิธี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ยังได้ขยายผลไปยังพื้นที่ตำบลหนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยสนับสนุนการจัดทำแปลงเรียนรู้เพิ่มเติม และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ยืมเมล็ดพันธุ์ข้าว กข43 ที่ได้จากแปลงเรียนรู้เดิมในอัตราการคืน 1:1.25 กิโลกรัม โดยในปี 2567 มีเกษตรกรยืมเมล็ดพันธุ์ไปแล้วรวม 400 กิโลกรัม เพื่อนำไปปลูกขยายผลผลิตและจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อให้เกษตรกรรายอื่น
การถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมการแปรรูปข้าวในพื้นที่ดังกล่าวช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวสารไว้บริโภคในครัวเรือน รวมถึงจำหน่ายในชุมชน เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลหนองตะพาน ได้ปลูกข้าว กข43 จำนวน 35 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวเปลือกรวม 17,500 กิโลกรัม โดยแบ่งไว้ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูถัดไป 5,000 กิโลกรัม และนำมาสีเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่ายแล้วจำนวน 6,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 240,000 บาท
นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่ยังดำเนินชีวิตตามแนวเกษตรผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่ โดยมีข้าวพันธุ์ กข43 เป็นพืชหลัก ร่วมกับการปลูกพืชผักบริเวณคันนา เช่น ชะอม ข่า ตะไคร้ แตงกวา บวบ และผักหนาม พร้อมทั้งเลี้ยงปลานิล ปลาจาระเม็ด และแหนแดง เพื่อใช้บำรุงดินและเพิ่มรายได้ แนวทางนี้เป็นการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า สร้างความมั่นคงทั้งด้านอาหารและเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรในระยะยาว และเป็นต้นแบบของการเกษตรยั่งยืนในชุมชน
การดำเนินงานของศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ กข43 และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตข้าวคุณภาพ รวมถึงแนวทางเกษตรผสมผสาน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาเกษตรกรรมไทยอย่างมีระบบและยั่งยืน ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิตและพึ่งพาสารเคมี แต่ยังเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในระยะยาว ทั้งยังช่วยส่งเสริมระบบนิเวศและสุขภาพของผู้บริโภค สะท้อนถึงการบูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถขยายผลต่อยอดสู่ชุมชนอื่นได้อย่างมั่นคง