“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี รองประธานสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (เอซีซี), ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า หลังจากสมาคมกีฬาจักรยานฯ ดำเนินการเก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยชุดเตรียมสู้ศึกกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคมนี้ เป็นระยะเวลาเกือบ 7 เดือน ซึ่งมีการทดสอบสมรรถภาพนักกีฬาทุกประเภท ทั้งประเภทลู่ ประเภทถนน ประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ และประเภทเสือภูเขา ตามนโยบายของการกีฬาแห่งประเทศไทย และผลการทดสอบล่าสุดนักปั่นทีมชาติไทยมีสมรรถภาพร่างกายอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
พลเอกเดชา กล่าวว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ ให้ความสำคัญในเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามามีส่วนในการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาเป็นอย่างมาก โดยนำทุกศาสตร์เข้ามาเสริม ทั้งด้านการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ด้านโภชนาการ ด้านจิตวิทยา ด้านกายภาพบำบัด ภายใต้การกำกับดูแลและรับผิดชอบของ พลตรี นพ.ภูษิต เฟื่องฟู อุปนายกสมาคมฯ ฝ่ายแพทย์ ซึ่งสมาคมฯ จะจัดสัมมนาใหญ่ให้ความรู้แก่ผู้ฝึกสอนและนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภทในวันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคมนี้ ที่วังยาว รีสอร์ต จังหวัดนครนายก โดยมีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์การกีฬาแขนงต่าง ๆ รวม 11 ท่านมาเป็นวิทยากร
ด้าน พลตรี นพ.ภูษิต เฟื่องฟู เปิดเผยว่า การสัมมนาให้ความรู้แก่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่เป็นคณะทำงานของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ประกอบด้วย นพ.พงศ์ภากร ศรธนะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความแข็งแกร่งและการปรับสภาพร่างกาย (Strength and Condition Coach), ดร.เอกรัตน์ อ่อนน้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬา และ ดร.อลิสา นานา ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกีฬา จากมหาวิทยาลัยมหิดล, นพ.อรรถสิทธิ์ สิทธิถาวร แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, พ.ต.หญิง พรรณรัตน์ พรรณสมัย นักกายภาพบำบัด จากโรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งแต่ละท่านจะบรรยายรายละเอียดแบบเจาะลึกเฉพาะด้าน รวมทั้ง มร.ฮาร์วีย์ เครปส์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนบีเอ็มเอ็กซ์ ที่เป็นผู้ออกโปรแกรมเวตเทรนนิ่ง และ “โค้ชบาส” พ.อ.อ.ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์ เป็นผู้ออกโปรแกรมการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยทุกคน
พลตรี นพ.ภูษิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สมาคมกีฬาจักรยานฯ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สาคร พรประเสริฐ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ได้ส่งทีมงานนักวิทยาศาสตร์การกีฬามาร่วมสัมมนา ประกอบด้วย นักเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 3 ท่าน ผศ.ดร.ภัทรพร สิทธิเลิศพิศาล, รศ.ดร.สมรรถชัย จำนงค์กิจ, ดร.โศธิตา นันตระกูล และนักกายภาพบำบัด 3 ท่าน กภ.สุพัชชา กองหาโคตร, กภ.รุ่งทิวา กันทะอินทร์, กภ.ฉัตรชัย พีระวัธน์กุล ไปร่วมดูแลเสริมสร้างสมรรถภาพให้แก่นักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยอีกด้วย
พลตรี นพ.ภูษิต กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้แผนการฝึกซ้อมก็ยังเน้นเรื่องความแข็งแกร่ง พละกำลัง และความเร็ว นอกจากนี้มีการเสริมเรื่องของโปรตีน Whey ซึ่งก็จะให้นักกีฬารับประทานในปริมาณที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของประเภทกีฬา เช่น นักกีฬาที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งใช้จำนวนเท่าใด นักกีฬาตัวสปรินท์ต้องใช้ในปริมาณเท่าใด การติดตามผลการฝึกซ้อมในยิมเนเซียมที่ต้องประเมินนักกีฬาทั้งด้านพละกำลังและความแข็งแกร่ง และจะมีแอปพลิเคชั่นใดบ้างที่ควรนำมาใช้
ในส่วนของนักกีฬาบีเอ็มเอ็กซ์ มร.ฮาร์วีย์ ได้ประสานเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้เดินทางไปตรวจ Motion Analysis EMG และ High speed Camera เพื่อดูการออกตัวของนักกีฬาที่สนามบีเอ็มเอ็กซ์ สวนกีฬากมล ของ FBT ซึ่งเป็นสนามแข่งขันจริงในกีฬาซีเกมส์
“เหลือเวลาอีกประมาณ 23 สัปดาห์จะถึงการแข่งขันซีเกมส์ ซึ่งจะเป็นช่วงที่นักกีฬาจักรยานมีสมรรถนะสูงสุด ตารางการฝึกซ้อมจะเข้าสู่ระยะที่โปรแกรมมีความเข้มข้นสูง หรือ High-intensity session โดยจะเริ่มมีสัดส่วนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของนักกีฬา ด้านโภชนาการ ด้านจิตวิทยา และการติดตามความอ่อนล้าสะสม จึงต้องยกระดับขึ้นตามแผนพัฒนาที่ผู้ฝึกสอนวางไว้อย่างเข้มข้น” พลตรี นพ.ภูษิต กล่าว
นอกจากนี้ พลเอกเดชา ได้กล่าวเสริมว่า จะเห็นได้ว่าสมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาทุกแขนง รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกือบทุกด้านมาพัฒนาศักยภาพนักปั่นไทยให้มีความแข็งแกร่ง พวกเราทำงานกันอย่างหนักโดยไม่เคยหยุดพัก เพื่อเป้าหมายการคว้าเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ให้ได้มากที่สุด และสร้างความสุขให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทย ขอให้ทุกคนช่วยเป็นกำลังใจให้แก่นักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยด้วย ที่ผ่านมาสมาคมกีฬาจักรยานฯ ไม่เคยทำให้พี่น้องประชาชนชาวไทยผิดหวัง เราจะเดินหน้าสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง