'จุลพันธ์' คาดถกภาษีสหรัฐฯ ยังไม่จบ
GH News July 04, 2025 01:16 PM

‘จุลพันธ์’ จับตาไทยเปิดโต๊ะถกภาษีสหรัฐฯ เชื่อสหรัฐฯ ขยายเวลาบังคับเก็บภาษีนำเข้า 36% หลังประเมินยังไม่ได้ข้อสรุป 100% แต่มั่นใจผลลัพธ์ออกมาดีแน่นอน

4 ก.ค. 2568 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาพูดคุยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อาจจะไม่จบง่าย ๆ อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุป 100% และอาจจะต้องมีการเปิดเวทีเพื่อให้มีการพูดคุยกันต่อ รวมถึงเชื่ออีกว่าสหรัฐฯ จะเข้าใจ และจะมีการเลื่อนกรอบระยะเวลาที่จะมีผลกระทบออกไปอีก ส่วนท้ายที่สุดตัวเลขภาษีสรุปจะออกมาที่เท่าไหร่ ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่เชื่อมั่นว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดี

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่มองในกรณีเลวร้ายว่าสหรัฐฯ จะกลับไปเก็บภาษีนำเข้าจากไทยที่อัตรา 36% อยู่แล้ว โดยในฐานะผู้ปฏิบัติไทยได้มีการหารือ พูดคุยกับสหรัฐฯ ในหลายระดับมาโดยตลอด และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาไทยรู้โจทย์ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไรบ้าง เช่น เรื่องสินค้าควบคุม สินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ ต้องการผลักดันออก ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมถึงภาคเอกชนก็มีการหารือกันอย่างเข้มข้น และรู้ว่าไทยจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“ทราบว่าเราได้มีการพูดคุยแล้ว และเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ถามว่าเราเคยหวังว่าจะอยู่ในระดับที่ดีที่สุด หรือจุดที่ก่อนจะมีการเก็บภาษีที่ 10% หรือไม่ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า เหตุการณ์ครั้งไม่มีทางกลับไปที่จุดเดิมได้อยู่แล้ว ทุกคนในโลกรู้ดี และสุดท้ายก็ต้องเดินข้ามไปสู่บาลานซ์ใหม่ที่จะเกิดจากเจรจา ถามว่าเราจะอยู่ในตะกร้าไหน ผมยอมรับลึก ๆ ว่าเราก็หวังว่าเราจะอยู่ในตระกร้า 10% แต่เมื่อเห็นผลการเจรจาของเวียดนามออกมา ตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่หากมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศค่อนข้างแตกต่าง ไทยมีสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มายาวนาน แม้เรื่องนี้จะใช้ชั่งน้ำหนักในการเจรจามากไม่ได้ แต่ก็เป็นความหวังหนึ่ง และเราก็ยังเชื่อมั่นว่าอำนาจในการเจรจาต่อรองของเราไม่ได้น้อยไปกว่าเวียดนาม และเชื่อว่าโจทย์ทั้งหมดของสหรัฐฯ นั้น ทีมไทยแลนด์รู้ดี และเตรียมตัวมาอย่างดีเพื่อให้การพูดคุยมีผลสำเร็จและกระทบกับประชาชนกลุ่มเปราะบางน้อยที่สุด” นายจุลพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้มีการจัดสรรเม็ดเงินราว 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือและรองรับภาคเอกชนจากผลกระทบที่อาจจะเกิดจากปัญหาสงครามการค้า และภาษีสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าเม็ดเงินในส่วนนี้จะช่วยภาคเอกชนในการประคับประคองการจ้างงาน และภาคการผลิต

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.