เซียนต่อไอเดียเจ๋ง ตัดชุดลุยรังต่อหัวเสือ อาชีพเสี่ยงตาย โกยรายได้ปีละเฉียดแสน ตกราคากิโลละ 1,000 บาท นำไปปรุงเมนูเด็ดหายาก สารพัดเมนูเด็ด
ถือเป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจในช่วงฤดูฝน หรือชาวบ้านเรียกว่าอาชีพเสี่ยงตาย คืออาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือ สร้างรายได้ปีละครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ อ.วังยาง อ.นาแก และ อ.ปลาปาก จ.นครพนม เนื่องจากมีความชำนาญสืบทอดมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน พอใกล้ถึงฤดูฝน ชาวบ้านเซียนต่อหัวเสือจะออกไปล่ารังต่อ จากการนำแมลง รวมถึงตั๊กแตน และเนื้อสัตว์ ไปล่อตัวต่อหัวเสือที่ออกมาหาอาหาร พร้อมติดสัญลักษณ์เป็นฟางขนาดเล็กมัดกับอาหาร จากนั้นตัวต่อจะนำอาหารบินไปเข้ารัง เพื่อไปเลี้ยงตัวอ่อน โดยใช้วิธีติดตามไปจนเจอรังต่อหัวเสือ
จากนั้นเซียนต่อหัวเสือจะใช้ความชำนาญในเวลากลางคืน ไปอุดรูรังต่อ ที่บินเข้าออก ส่วนใหญ่เป็นรังขนาดเล็ก ประมาณกำปั้น บางรังขนาดเท่าลูกฟุตบอล เพื่อย้ายนำมาเก็บรักษาเลี้ยงไว้ ตามหัวไร่ปลายนาและที่ปลอดภัย ปล่อยให้โตตามธรรมชาติส่วนใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน รังต่อหัวเสือจะมีขนาดโตเต็มที่ พอที่จะนำเอาลูกอ่อน ตัวหนอน ออกมาปรุงอาหาร และนำไปขายสร้างรายได้ ในส่วนของตัวหนอน ดักแด้ ลูกต่อหัวเสือ มีราคากิโลกรัมละประมาณ 1,000 บาท นอกจากนี้ยังสามารถขายทั้งรังประมาณรังละ 2,000-3,000 บาท
สำหรับการเก็บรังต่อหัวเสือมาขาย เดิมชาวบ้านใช้วิธีรมควัน ปัจจุบันมีการพัฒนา จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ตัดชุดป้องกันตัวต่อ สวมแล้วเข้าไปล้วงเอารังต่อ เพื่อเอาถาดลูกตัวต่อหัวเสือออกมาขาย และเหลือไว้บางส่วน ทำให้ตัวต่อหัวเสือกลับมาทำรังอีกครั้ง เป็นการเพิ่มมูลค่า จากปกติได้ผลผลิตรอบเดียวเพิ่มเป็น 2-3 รอบ และยังลดปัญหาการสูญพันธุ์จากการรมควันอีกด้วย
ชาวบ้านเซียนต่อยอมรับ เป็นอาชีพเสี่ยงตาย ต้องมีความชำนาญ เพราะพลาดอันตรายถึงชีวิต แต่ถือว่ารายได้ดี ปีละครั้ง บางรายมีความชำนาญ สามารถหารังต่อหัวเสือมาเลี้ยงขาย สร้างรายได้ปีละ 50,000-1 แสนบาท เป็นรายได้เสริมอีกทางนอกจากการทำการเกษตร เมนูส่วนใหญ่จะนำลูกต่อออกมานึ่งแช่แข็งขาย รวมถึงนำไปแกง ห่อหมก คั่ว ทอด แกงอ่อม สามารถนำไปปรุงเมนูเด็ดอีสานได้สารพัดเมนู ยิ่งร้านค้าร้านอาหาร นำเป็นเมนูตามฤดูกาลขายได้จานละ 200-300 บาท แพงแต่คนนิยม ทำให้ขายดี
ด้านนายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า พื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก ถือเป็นอีกหมู่บ้าน ที่ตนและชาวบ้านได้นำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาต่อยอด ส่งเสริมการเลี้ยงต่อหัวเสือสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูฝน และนำผลผลิตลูกต่อส่งขายในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม เป็นฤดูกาลที่ต่อให้ผลผลิตมากสุด ถือเป็นอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สร้างรายได้ดีเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีราคาตกกิโลกรัมละเกือบ 2,000 บาท ยิ่งปีไหนหายาก ยิ่งแพง โดยชาวบ้านจะใช้ความชำนาญ ในการล่าต่อหัวเสือตามป่า ทุ่งไร่ทุ่งนาที่ทำรังตามธรรมชาติ ด้วยการนำเหยื่อประเภทเนื้อสัตว์ แมลง ไปล่อ แล้วตามไปหารังต่อ ก่อนเคลื่อนย้ายมารักษาไว้ตามหัวไร่ปลายนาในที่ปลอดภัย ใช้เวลาเลี้ยงแบบธรรมชาติ ประมาณ 2-3 เดือน ก่อนเก็บผลผลิตขาย
เดิมใช้วิธีรมควัน แต่พัฒนาคิดค้นชุดล้วงรังต่อ เพื่อป้องกันต่อสูญพันธุ์ และเก็บผลผลิตได้หลายครั้ง บางรังสามารถเก็บผลผลิตได้ 2-3 ครั้ง หากรมควัน จะได้เพียงครั้งเดียว บางรายสามารถหารังต่อได้เยอะ สร้างรายได้ปีละ 50,000 ถึงแสนบาท ส่วนเมนูเด็ดชาวบ้านจะนำไปปรุงเมนูก้อยลูกต่อ คั่วต่อหัวเสือ หมกต่อ แกงต่อ ยำลูกต่อ สารพัดเมนู ถือเป็นเมนูเด็ดที่หากินยาก 1 ปีมีครั้งเดียว ทำให้มีราคาแพง น
อกจากนี้ บางรายมีการสั่งซื้อยกรัง เพื่อนำรังที่แม่ต่อทิ้งรังร้าง ไปทำเป็นเครื่องรางของขลัง ตามความเชื่อ ขายได้ราคาสูง ตกรังละ 3,000-5,000 บาท ส่วนการดูแลจะต้องมีความชำนาญ และต้องเลี้ยงในที่ปลอดภัย เพราะต่อหัวเสือถือเป็นแมลงที่มีพิษร้ายแรง อันตรายถึงชีวิตหากถูกรุมต่อยจำนวนมาก จึงต้องมีความชำนาญในการเลี้ยงดูแล