ฝนถล่มต่อเนื่อง! สทนช. เตือน 4 ภูมิภาคเสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม 6–12 ก.ค.นี้
GH News July 05, 2025 09:06 AM

วันที่ 5 ก.ค.68 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2568 เวลา 07.00 น. พบว่าหลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนัก โดยจังหวัดที่มีปริมาณฝนสะสมในรอบ 24 ชั่วโมงสูงสุด ได้แก่ จ.น่าน 107 มม., จ.สกลนคร 76 มม., จ.ตราด 63 มม., จ.ระนอง 100 มม., จ.ประจวบคีรีขันธ์ 18 มม. และ จ.ชัยนาท 11 มม.

สำหรับสภาพอากาศในวันนี้ เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ร่วมกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังปานกลางซึ่งยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยคาดว่าในวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ส่วนช่วงวันที่ 7 – 8 กรกฎาคม 2568 ปริมาณฝนจะเริ่มลดลง แต่อาจยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและลาวตอนบน

ในขณะเดียวกัน พายุดีเปรสชันที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ดานัส” โดยคาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 7 – 9 กรกฎาคม 2568 อย่างไรก็ตาม พายุนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพอากาศของประเทศไทย

ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พบว่ามีปริมาณน้ำรวมคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุเก็บกัก หรือประมาณ 45,505 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้อยู่ที่ร้อยละ 37 หรือประมาณ 21,461 ล้านลูกบาศก์เมตร สทนช. ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน ลดความเสี่ยงจากอุทกภัย และเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

นอกจากนี้ สทนช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 10/2568 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขัง และระดับน้ำโขงที่อาจเปลี่ยนแปลง ระหว่างวันที่ 6 – 12 กรกฎาคม 2568 โดยระบุพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ เช่น จ.เชียงราย น่าน พะเยา ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ยโสธร และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก เช่น จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ เช่น จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี

ขณะเดียวกันยังได้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุเก็บกักในหลายจังหวัด อาทิ ลำปาง น่าน พิษณุโลก สกลนคร กาฬสินธุ์ ตราด และจังหวัดอื่น ๆ พร้อมเร่งพร่องน้ำในอ่างที่มีปริมาณเกินความจุ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยโทงและห้วยซวง จ.สกลนคร อ่างหนองหญ้าม้า จ.กาฬสินธุ์ อ่างด่านชุมพล จ.ตราด รวมถึงแหล่งน้ำสำคัญอย่างกว๊านพะเยา หนองหาร และหนองกุดทิง เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากฝนที่ตกหนัก

นอกจากนี้ยังเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก โดยเฉพาะแม่น้ำอิงและแม่น้ำสายในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งอาจเกิดน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากฝนตกสะสมในฝั่ง สปป.ลาว แม้จะไม่ถึงระดับล้นตลิ่ง แต่จังหวัดริมแม่น้ำโขง เช่น เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.