ตามหาต้นแบบชุมชนริมคลอง จุดเช็กอินกรุงเทพฯ
GH News July 07, 2025 03:06 PM

ชุมชนริมคลอง น่ามอง น่าอยู่ เป็นโครงการที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จัดทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนริมคลองที่มีมาตรฐานและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติ สร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนริมคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนสองฝั่งคลอง  ที่สำคัญสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนริมคลองในการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน ให้สะอาด สวยงาม และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เชิดชูชุมชนที่มีการจัดการที่โดดเด่นเพื่อเป็นต้นแบบชุมชนริมคลอง น่ามอง น่าอยู่ โดยให้ 50 สำนักงานเขตคัดเลือกชุมชนเข้าร่วมโครงการ

ความคืบหน้าของโครงการ นางเสริมสุข นพพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืน สำนักงานสิ่งแวดล้อมยั่งยืน สำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานตามเกณฑ์และประสานความร่วมมือภาคีเครือข่าย การประกวดชุมชนริมคลอง น่ามอง น่าอยู่ ประจำปี 2568 ครั้งที่ 2/2568 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่เฟ้นหาสุดยอดชุมชนจัดการสิ่งแวดล้อมริมคลอง น่ามอง น่าอยู่ 50 เขต ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เมื่อวันก่อน

การประชุมครั้งนี้เป็นการชี้แจงข้อสังเกตในการพิจารณาเล่มรายงานก่อนลงพื้นที่ต่อคณะกรรมการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานตามเกณฑ์และประสานความร่วมมือภาคีเครือข่าย การประกวดชุมชนริมคลอง น่ามอง น่าอยู่ ประจำปี 2568 แบ่งคณะกรรมการฯ ออกเป็น 6 ชุด 6 กลุ่มเขต โดยให้คณะกรรมการฯ แต่ละชุดให้คะแนนชุมชนในแต่ละกลุ่มเขต พร้อมจัดทำรายงานการประชุม ถ่ายรูปและคลิปวีดิโอการประชุม เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการพิจารณา    

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ประเมินการดําเนินงานตามเกณฑ์การประกวดโดยคณะกรรมการสนับสนุนส่งเสริมการดําเนินงานตามเกณฑ์ จะคัดเลือกชุมชนที่คะแนนสูงสุด 10 ลำดับของแต่ละประเภท ประกอบด้วย ชุมชนขนาดเล็ก (S) 10 ชุมชน ชุมชนขนาดกลาง (M) 10 ชุมชน และชุมชนขนาดใหญ่ 10 ชุมชน รวมจำนวน 30 ชุมชน ก่อนจะมีการจัดเสวนาวิชาการนำเสนอผลงานชุมชนดีเด่นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน และพิธีมอบรางวัลในช่วงเดือนกันยายน 2568 นี้

นายโกศล สิงหนคร ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวว่า การฟื้นฟูคลองเขตพระนครเป้าหมายหลัก นอกจากดูแลสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม สะอาดตาน่ามองแล้ว การพัฒนาชุมชนริมคลองต้นแบบสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน มีตัวอย่างการพัฒนาคลองบางลำพู จัดกิจกรรมล่องคลองบางลำพู  ชมวิถีชุมชน นำของดีๆ ในเขตพระนคร ทั้งวัด อาหาร มาเป็นตัวชูโรงและเชื่อมต่อด้วยการล่องเรือ ปัจจุบันคลองบาวลำพู พัฒนาภูมิทัศน์ ปรับปรุงทางกายภาพ พัฒนาทางเดินเลียบคลองบางลำพู เดินเล่นชิลๆ จากป้องมหากาฬ สู่ป้อมพระสุเมรุ โดยจะมีการเชื่อมต่อให้เส้นทางเชื่อมต่อชุมชนต่างๆ ในย่านบางลำพู คาดว่าจะแล้วเสร็จปีงบประมาณนี้  อีกทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำ นำน้ำเสียจากครัวเรือนเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย กทม. เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นลำพู เพิ่มเสน่ห์คลองบางลำพูปลูกต้นหางนกยูงสีสันสวยงาม เป็นจุดเช็คอินของกรุงเทพฯ

“ ส่วนชุมชนคลองโอ่งอ่างก็มีความโดดเด่น น่ามอง น่าอยู่ เขตพระนครพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ การจัดการขยะ ควบคู่การจัดกิจกรรมในย่านอย่างต่อเนื่อง เช่น สืบสานงานลอยกระทง การสร้างงานอาร์ตชวนศิลปินมาเติมสีสันตามแนวกำแพงและอาคารบ้านเรือนริมคลอง เป็นการเปิดพื้นที่ร่วมกับมิวเซียมสยามตามจุดต่างๆ ของคลองโอ่งอ่าง  ซึ่งตามแผนในวันที่ 11-13 ก.ค.  2568 นี้ เหล่าศิลปินจะรวมพลังเพิ่ม Art Wall  เป็นจุดเช็คอินใหม่ๆ สร้างแลนด์มาร์คให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ  “ นายโกศล กล่าว

สำหรับเกณฑ์การประกวดชุมชนริมคลอง น่ามอง น่าอยู่ ประกอบด้วย 6 ด้าน 18 ข้อ  ได้แก่ 1. ด้านแผนงานและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนริมคลอง มี 4 ข้อ 12 คะแนน 1.1 มีการกำหนดแผนงานการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน 1.2 มีการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ 1.3 มีการเผยแพร่แผนงานการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนทราบ และ 1.4 การมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น ๆ (มีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมหรือสนับสนุนกิจกรรมชุมชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม)

2. ด้านการจัดการมูลฝอย มี 4 ข้อ 12 คะแนน 2.1 มีข้อตกลงหรือกฎระเบียบของชุมชนในการจัดการมูลฝอยและสื่อสารให้สมาชิกในชุมชนทราบและปฏิบัติตามข้อตกลง 2.2 มีที่พักมูลฝอยแยกประเภท 4 ประเภท (ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะเศษอาหาร) ภายในชุมชน 2.3 มีโครงการ/กิจกรรมของชุมชนริมคลองด้านการจัดการมูลฝอย เช่น กิจกรรมทอดผ้าป่ารีไซเคิล กิจกรรมจิตอาสาเก็บมูลฝอยในคลอง กิจกรรมตลาดนัดรีไซเคิล โครงการ “ไม่เทรวม” กิจกรรมหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้ น้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร เปลือกผลไม้ เป็นต้น และ 2.4 การมีส่วนร่วมของครัวเรือนในชุมชน

3. ด้านการจัดการพื้นที่สีเขียว มี 3 ข้อ 9 คะแนน 3.1 การจัดการพื้นที่สีเขียวบริเวณส่วนกลางชุมชน พื้นที่สีเขียวที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน  เช่น สวนริมคลอง สวนผักคนเมือง สวนหย่อม สวนสมุนไพร สวนกระถาง เป็นต้น 3.2 มีโครงการ/กิจกรรมของชุมชนด้านการจัดการพื้นที่สีเขียว เช่น กิจกรรมปลูกต้นไม้ กิจกรรมขยะแลกต้นไม้ กิจกรรมเพาะกล้าไม้พื้นถิ่นแจกประชาชนที่มาเยี่ยมชุมชน เป็นต้น และ 3.3 การมีส่วนร่วมของครัวเรือนในชุมชน 

4. ด้านการจัดการภูมิทัศน์ (ความสะอาดในคลองและพื้นที่ริมคลอง) มี 4 ข้อ 12 คะแนน 4.1 ความสะอาดในคลอง 4.2 มีโครงการ/กิจกรรมของชุมชนด้านการจัดการภูมิทัศน์พื้นที่ริมคลอง เช่น การทำตาข่ายดักขยะ การปลูกต้นไม้ริมคลอง การปลูกหญ้าแฝกกันดินทลาย กิจกรรมการดูแลตัดแต่งต้นไม้ริมคลอง การปรับปรุงทางเดินเท้าริมคลอง เป็นต้น 4.3 การมีส่วนร่วมของครัวเรือนในชุมชน และ 4.4 ความสะอาดบริเวณพื้นที่ริมคลอง 

5. ด้านความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย มี 1 ข้อ 2 คะแนน คือ พื้นที่ถนน/ทางเดินในชุมชนมีความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย  6. ด้านอื่น ๆ มี 2 ข้อ 3 คะแนน 6.1 มีนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน เช่น การทำตาข่ายดักขยะ กังหันบำบัดน้ำเสียจากพลังงานจักรยาน ถังหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร และ 6.2 มีจุดเช็คอินของชุมชนริมคลอง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.