ปชน. ยื่นร่างแก้รธน.รายมาตราให้รัฐสภา เปิดช่องปชช.เข้าชื่อถอดถอน ศาลรธน.-องค์กรอิสระ
GH News July 07, 2025 05:20 PM

ปชน. ยื่นร่างแก้รธน.รายมาตราให้ รัฐสภา โหวตเลือกองค์กรอิสระ -ศร. พร้อมเปิดช่องให้ปชช.เข้าชื่อถอดถอนได้

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ส.ส.พรรคปชน. ร่วมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นว่าด้วยองค์กรอิสระ ต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะตรวจสอบรายชื่อและจำนวน ส.ส.ที่ลงชื่อตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงมาตราที่แก้ไขทั้งหมด หากครบถ้วนและสมบูรณ์ตามขั้นตอนแล้ว จากนั้นจะต้องเชิญคณะกรรมการประสานงานในสภาฯ (วิป) ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ส.ว. รัฐบาล และฝ่ายค้าน มาหารือว่าจะพิจารณาตามที่ทุกฝ่ายมีความพร้อม

ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคปชน. กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรายื่นในวันนี้ มุ่งสู่การสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่เป็นอิสระจากประชาชนโดยแบ่งออกเป็น 3 ร่าง โดยร่างที่ 1 เป็นการเปลี่ยนระบบ ที่ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก คือเป็นการแก้ไขว่าด้วยกระบวนการที่มาและกระบวนการสรรหาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จากเดิมมีการสรรรหาและเสนอชื่อ ผ่านคณะกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นช่องทางเดียว ส่วนที่แก้ไข คือให้มีการเสนอชื่อได้ ช่องทางจากที่ประชุมศาล ช่องทางจากส.ส.รัฐบาล ช่องทางส.ส.ฝ่ายค้าน และช่องทางของส.ว. ทั้งนี้ จะไม่มีการปรับแก้ไขในเรื่องคุณสมบัติ ยกเว้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีความเห็นว่ากรรมการทั้ง 9 คนควรมีความหลากหลาย

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 เป็นการแก้ไขในประเด็นการคัดเลือกและเห็นชอบ จากเดิมที่ต้องใช้การลงมติของส.ว. โดยแก้ไขให้มาจากการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา และต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงมีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้านด้วย และประเด็นที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมในกระบวนการถอดถอน ที่ให้สิทธิส.ส.และประชาชน เข้าชื่อ 2 หมื่นคน ยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ในกรณีที่เห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนร่างที่ 2 และร่างที่ 3 นั้น เป็นการปรับเฉพาะจุด ที่เราหวังว่าจะเป็นข้อเสนอขั้นต่ำที่ทุกพรรคการเมืองและ ส.ว. จะรับได้ โดยร่างที่ 2 จะเป็นเฉพาะการเปลี่ยนการคัดเลือกและรับรอง จากเดิมที่ ส.ว.มีอำนาจชี้ขาด และต้องได้รับความเห็นชอบจากกึ่งหนึ่งของ ส.ว. แก้ไขมาเป็นการพิจารณาร่วมกันของทั้งสองสภา โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา สำหรับร่างที่ 3 จะเป็นเฉพาะการคืนสิทธิให้ ส.ส.และประชาชน 2 หมื่นคนในการเข้าชื่อเพื่อริเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

“การปรับกระบวนการสรรหาที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ คือการแก้ปัญหาที่องค์กรต่างๆ นั้นไม่ยึดโยงกับประชาชน ทั้งนี้ ข้อเสนอของพรรคประชาชนเชื่อว่าจะได้รับเสียงฉันทามติขั้นต้นจากสมาชิกรัฐสภา โดยทั้ง 3 ฉบับนั้นเป็นการทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่เป็นอิสระจากประชาชน แต่เป็นอิสระจากการถูกครอบงำจากกลุ่มก้อนทางการเมือง ทั้งนี้ในประเด็นองค์กรอิสระที่ผ่านมาถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เราควรต้องช่วยกันปลดชนวน ซึ่งการแก้ไขรายมาตราดังกล่าว เป็นการทำคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการบรรจุและผลักดันร่างดังกล่าวในรัฐสภาโดยเร็ว” นายพริษฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การแก้ไขดังกล่าวมีบทบัญญัติเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่แน่ใจว่าเขียนเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือไม่ เพราะปัจจุบันคนที่ชี้ขาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจของประชาชน ซึ่งเป็นที่ถกเถียงและตั้งคำถามว่า ถูกครอบงำจากการเมือง ดังนั้นต้องตั้งหลักว่าในกติกาเพื่อป้องกันการแทรกแซงจริงหรือไม่ ดังนั้นเป้าหมายที่ต้องทำคือให้องค์กรอิสระถูกครอบงำจากฝากฝ่ายใด ยกเว้นประชาชน และเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้คือการวางเป็นหลักประกัน คนที่ไปดำรงตำแหน่งต้องถูกบังคับใช้กับทุกฝ่าย

ถามว่า ในร่างแก้ไขมีบทเฉพาะกาลเพื่อคุ้มครองกรรมการองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ขณะนี้หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า มีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ และเมื่อผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งแล้ว เชื่อว่าจะวางกรอบเวลาเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง ทั้งนี้ ในรายละเอียดทางพรรคจะจัดทำเอกสารเผยแพร่อีกครั้ง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.