เคทีซี เผยครึ่งปีแรก 2568 ยอดใช้จ่ายร้านอาหารต่อหัวต่อเดือนลดลง โดยเฉพาะบิลใหญ่ 5,000 บาทขึ้นไป ลดลงอย่างมีนัยยะ ในขณะที่จำนวนลูกค้ารูด 300-500 บาาท/ครั้งเพิ่มมากขึ้นแทน มั่นใจทั้งปียังโตได้ตามเป้า 10% พร้อมชวน 3 แบรนด์ดังแชร์แนวคิด “เสิร์ฟแผนรอด: สูตรลับร้านอาหารไทยฝ่าวิกฤต”
น.ส.วริษฐา พัฒนรัชต์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าภาพรวมการใช้จ่ายร้านอาหารผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งปีแรก 2568 ต่อหัวต่อเดือนลดลง แต่จำนวนลูกค้าที่ใช้จ่ายและจำนวนครั้งที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซียังเติบโตได้ดีทุกเดือน ขณะเดียวกันสิ่งที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือ กลุ่มที่มียอดใข้จ่ายร้านอาหารต่อครั้งที่เป็นยอดสูงๆ ตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวลง ขณะที่ไปเติบโตในกลุ่มที่มียอดขายใช้จ่ายต่อครั้งน้อยลง หรือ 300-500 บาท/ครั้งมากขึ้น ทำให้ยอดการใช้จ่ายในหมวดร้านอาหารผ่านบัตรเคทีซีในช่วงครึ่งปีแรกยังมีอัตราการเติบโตได้ในระดับ 5% และคาดว่าทั้งปียังเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 10%
อย่างไรก็ดีบัตรเครดิตเคทีซี มีพันธมิตรร้านค้าจำนวนมาก และทำงานร่วมกันเชิงลึกเพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน โดยเฉพาะพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โดยเคทีซีมีการดำเนินใน 4 กลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการเติบโตผ่านการ 1. “ร่วมคิด ร่วมทำ” เพื่อให้โปรโมชันตอบโจทย์ทั้งผู้ถือบัตรและพันธมิตรอย่างแท้จริง และพร้อมปรับกลยุทธ์อย่างยืดหยุ่น เพื่อให้คู่ค้าสามารถแข่งขันและเติบโตได้แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย 2.การเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าจากข้อมูลยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซี ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกได้อย่างทันท่วงที สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสมอ
3.ให้ความคุ้มค่า ผ่านอาวุธหลัก คือ คะแนน KTC FOREVER ซึ่งไม่มีวันหมดอายุ และให้สมาชิกแลกคะแนนได้ไม่จำกัด ด้วยเงื่อนไขที่น้อยที่สุด โดยหมวดร้านอาหารเป็นกลุ่มที่สมาชิกมีการใช้คะแนนสะสม KTC FOREVER สูงที่สุด ทั้งในรูปแบบส่วนลด เครดิตเงินคืน หรือของทานเล่นจากร้านดัง มากกว่า 70 แบรนด์ ครอบคลุมกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ โดยสมาชิกสามารถนำคะแนนสะสมมาช่วยลดภาระทางการเงิน สร้างความผูกพันกับสมาชิก และตอบโจทย์ทั้งฝั่งของสมาชิกโดยให้่ความรู้สึกถึง “ความคุ้มค่าในทุกมื้อ” ขณะที่พันธมิตรร้านอาหารได้รับการกระตุ้นยอดขาย ทำให้เคทีซีกลายเป็นบัตรหลักได้อย่างยั่งยืน และ 4.การเลือกใช้ช่องทางดิจิทัล ในการสื่อสารลูกค้าได้ตรงกลุ่ม ซึ่งเคทีซีมีพันธมิตรร้านอาหารกว่า 2,000 ร้านค้า โดยใช้การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม ผ่านช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ของเคทีซีในทุกช่องทางทั้งเว็บไซต์,Facebook, LINE OA, TikTok, และ Instagram เพื่อสื่อสารข้อมูลสิทธิประโยชน์ให้ตรงใจสมาชิกแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. 2568 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี สะท้อนความระมัดระวังในการใช้จ่าย ขณะที่ข้อมูลจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่ายอดขายร้านอาหาร Dine-in ลดลงเฉลี่ย 15–20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ธุรกิจร้านอาหารยังเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดกลับมีการแข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ โดยมีร้านอาหารเปิดใหม่กว่า 2,500 แห่ง ในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่มีร้านที่ปิดตัวแล้วกว่า 1,800 แห่ง สะท้อนถึงภาวะตลาดที่เริ่มอิ่มตัวและต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วน
พร้อมกันนี้ “เคทีซี” บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดเสวนา KTC FIT TALK ครั้งที่ 16 “เสิร์ฟแผนรอด: สูตรลับร้านอาหารไทยฝ่าวิกฤต” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมองเกี่ยวกับสถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารของไทย ให้่สามารถปรับตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากภาวะค่าครองชีพสูงและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ผันผวน
โดยนายสุรเวช เตลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด เปิดเผยยว่า ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจร้านอาหา โดยมีแบรนด์ “Mo-Mo-Paradise (โม โม พาราไดซ์) เป็นแบรนด์หลัก ซี่งคาดว่ายอดขายในปี 2568 จะเติบโตได้เล็กน้อยจากปี 2567 ที่มียอดขาย 1,700 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายอีก 3 แบรนด์ Gyukatsu Kyoto Katsugyu ร้านเนื้อชุบแป้งทอดทงคัตสึจากญี่ปุ่น และ Guljak Topokki & Chicken ไก่ทอดเกาหลีต๊อกบกกี ยอดขายชะฃอลงเล็กน้อย ทำให้ยอดขายรวมในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงปีที่ผ่านมาที่ 2,000 ล้านบาท
“ต้องยอมรับว่าปีนี้เศรษฐกิจไม่ดีจริง แต่บริษัทยังรักษายอดขายโดยรวมได้ค่อนข้างดี เนื่องจากมีการวางโครงสร้างการบริหารที่แข็งแกร่งในทุกสาขา ซึ่งแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ จะเน้นระมัดระวังในการลงทุน โดยเน้นเพิ่มยอดขายใน 30 สาขาเดิม แทนการขยายสาขาใหม่ เนื่องจากร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ต้องเน้นการบริหารรอบตัว โดยเฉพาะการบริหารกระแสเงินสดที่รัดกุมเพื่อรับมือความไม่แน่นอน”นายสุรเวช กล่าว
ขณะเดียวกันแนวโน้มผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพควบคู่กับความอร่อย รวมถึงคาดหวังข้อมูลที่เป็นจริงจากสื่อดิจิทัลที่เน้นความรวดเร็ว พร้อมกล่าวถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อาทิ ระบบ POS ระบบที่โฟกัสการทำงานเพื่อบริการจัดการลูกค้าหน้าร้าน, ERP เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร และ AI เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลผู้บริโภคในเครือ Mo-Mo-Paradise
ทางด้านนายจักรกฤติ สายสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดการวางรากฐานแบรนด์ Maguro (มากุโระ) เนื่องจากมองเห็น “ช่องว่าง” ในตลาดอาหารญี่ปุ่นกลุ่มพรีเมียมแมส จึงสร้างความแตกต่างโดยเน้นวัตถุดิบคุณภาพสูงนำเข้าจากญี่ปุ่น พร้อมกำหนดราคาที่เข้าถึงได้ และเน้นสร้างประสบการณ์ เพื่อมอบความคุ้มค่าให้กับลูกค้า พร้อมนำกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” มาใช้ในช่วงเริ่มต้นเปิดสาขาแรกๆ
โดยเน้นทำเลนอกเมื่องที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง จนสามารถทำให้ Maguro กลายเป็น “ร้านประจำของชุมชน” ทั้งในรูปแบบศูนย์การค้าขนาดเล็ก ศูนย์การค้าเฉพาะทาง หรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีมากกว่า 6 แบรนด์ในเครือ นอกเหนือจาก Maguro แล้วยังมี SSamthing Together ปิ้งย่างเกาหลี พรีเมียม, Hitori Shabu, แบรนด์ดังจากญี่ปุ่นอย่าง Tonkatsu Aoki หรือ แบรนด์ All day dining อย่าง Coucou รวมถึง แบรนด์น้องใหม่ล่าสุด Bincho ร้าน Traditional Japanese Restaurant ที่เสิร์ฟเมนูย่างถ่านแบบโบราณในรูปแบบอาหารเซ็ต โดยตั้งเป้าหมายขยายสาขา 13–15 สาขาภายใน 3 ปี
ขณะที่น.ส.พรพิมล ปักเข็ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนนิน เพนนี พาทิซเซอรี่ จำกัด เจ้าของแบรนด์เพนนิน เพนนี ซึ่งเป็นพรีเมี่ยมป๊อปคอร์นเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า จากการเล็งเห็นโอกาสในตลาดป๊อปคอร์นเพื่อสุขภาพ โดยเลือกใช้น้ำมันเมล็ดชา (Camellia Oil) และเทคโนโลยี “Air Pop” ซึ่งเป็นนวัตกรรมการอบข้าวโพดโดยไม่ใช้น้ำมัน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
โดยแบรนด์ยังได้สร้างความแตกต่างด้วยจุดขาย “หวานน้อย สุขภาพดี ไม่มีสารเคมี” พร้อมการรับรองมาตรฐาน GMP และฮาลาล พร้อมยอมรับว่าที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบจากลูกค้าต่างชาติที่ลดลง และคนไทยใช้จ่ายลดลง ทำให้ต้องมองหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเตรียมออกรสชาตใหม่ ช็อคโกแลตดูไบ ในเดือนส.ค.นี้ พร้อมกับเตรียมไปออกงานแสดงสินค้าที่ฮ่องกง เพื่่อขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ และตะวันออกกลาง จากปัจจุบันที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าระดับบน