ชูนวัตกรรมเกมปริศนาอัจฉริยะ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ68 ต่อยอดอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน
GH News July 07, 2025 08:05 PM

วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) นำผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเข้าร่วมจัดแสดงในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025)” ครั้งที่ 20 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่ออนาคตประเทศไทย” (Creative Economy for Thailand Tomorrow) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16–20 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ปีนี้ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้รับคัดเลือกให้นำผลงานจัดแสดง โดยหนึ่งในผลงานนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ เกมห้องปริศนาอัจฉริยะใน Metaverse VR ที่พัฒนาโดย น.ส.พงษ์รดา เรืองวงศ์โรจน์ และ นายเสกสรรค์ เทียมกลาง นักศึกษาสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นระบบที่สร้างปริศนาแบบไดนามิกและปรับระดับความยากง่ายอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้เล่น ทั้งในรูปแบบ VR และดิจิทัลปกติ โดยมี ดร.ทศพล เศรษฐวัชราวนิช หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน

ดร.ทศพล เศรษฐวัชราวนิช หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ผลงานนี้เกิดจากการนำแนวคิดของเกมแนว Escape Room มาผสานกับ AI และ VR เพื่อสร้างเกมที่สามารถปรับความยากได้ตามความสามารถของผู้เล่น ปริศนาแต่ละด่านจะไม่ซ้ำเดิม เพราะระบบ AI จะสุ่มและประมวลผลเพื่อสร้างความท้าทายใหม่ในทุกครั้งที่เล่น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จำลองเพื่อการฝึกอบรมหรือการเรียนรู้ในหลากหลายสาขา เช่น การฝึกทหาร การจัดการภัยพิบัติ และการฝึกทักษะการตัดสินใจในสถานการณ์เสมือนจริง ผลงานนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้เข้าชมงาน ทั้งในแง่ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน

“แนวคิดและจุดเริ่มต้นของโครงงานนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากเกมแนว Escape Room ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากการจัดสถานที่เล่นจริงมักมีข้อจำกัด ทีมพัฒนาจึงได้นำแนวคิดนี้มาสร้างสรรค์ในรูปแบบดิจิทัลและผสานเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) เพื่อให้ผู้เล่นได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริง โดย AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับความยากง่ายของเกมตามความสามารถของผู้เล่นแต่ละคน ทั้งยังสามารถสร้างปริศนาใหม่ ๆ ได้เองในแต่ละครั้งที่เล่น ทำให้ผู้เล่นไม่เจอกับประสบการณ์เดิมซ้ำซาก” ดร.ทศพล กล่าว

หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวต่อว่า เกมที่พัฒนาขึ้นจะเน้นการแก้ไขปริศนาภายในห้องเสมือน โดยผู้เล่นต้องหาคำตอบหรือรหัสผ่านเพื่อปลดล็อกประตูออกจากห้อง ตัวอย่างเช่น การหาตัวเลขรหัส 4 หลักที่มาจากการรวมข้อมูลหรือการไขปริศนาต่าง ๆ ภายในเกม จุดเด่นที่แตกต่างจากเกมปริศนาทั่วไป คือ AI จะวิเคราะห์พฤติกรรมการเล่นแล้วปรับระดับความยากให้สอดคล้องกับความสามารถผู้เล่น หากพบว่าผู้เล่นแก้ปริศนาได้รวดเร็ว ระบบจะเพิ่มความท้าทาย แต่ถ้าผู้เล่นประสบปัญหากับการแก้ปริศนา ระบบจะปรับให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ผู้เล่นรู้สึกท้อแท้

นอกจากนี้ ดร.ทศพล ยังเปิดเผยอีกว่า โครงงานนี้นอกจากจะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้การพัฒนาเกมและเทคโนโลยี AI แล้ว ยังฝึกทักษะการออกแบบโปรแกรม การบูรณาการด้านกราฟิก ระบบเสียง และองค์ประกอบด้านความปลอดภัยในซอฟต์แวร์ อีกทั้งนักศึกษายังสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน สร้างเกม หรือทำงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีได้จริง

อย่างไรก็ตาม โครงงานเกมปริศนานี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะขยายรูปแบบการเล่นให้รองรับทั้งการเล่นแบบ VR และการเล่นปกติ เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้ได้กว้างขึ้น รวมถึงคาดว่าจะสามารถนำออกสู่ตลาดเพื่อให้บุคคลทั่วไปและหน่วยงานที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป

ขณะที่หนึ่งในผู้พัฒนาเกมห้องปริศนาอัจฉริยะใน Metaverse VR นายเสกสรรค์ เทียมกลาง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยแนวคิด จุดเริ่มต้น และประสบการณ์จากการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่เข้าร่วมจัดแสดงในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 โดยระบุว่า จุดเริ่มต้นของโครงงานนี้เกิดจากความสนใจในเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ลงมือพัฒนาโปรเจกต์จริงในรูปแบบ VR ผสมผสานกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังได้รับความนิยม

“ตอนแรกผมยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำเกมใน VR โดยเฉพาะในไทย ข้อมูลและแนวทางการพัฒนายังหายากมาก ต้องเริ่มจากการค้นคว้า ศึกษาเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้าง VR จากนั้นวางแผนการทำงานร่วมกับเพื่อน แบ่งหน้าที่เป็นขั้นตอน ตั้งแต่การหาข้อมูล ออกแบบด่าน ทดลองสร้างต้นแบบ และนำเสนอไอเดียให้อาจารย์ช่วยให้คำแนะนำ และมีการอัปเดตความคืบหน้าและปรับปรุงงานทุกสัปดาห์ เพื่อให้แนวทางและคุณภาพของผลงานพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง” นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ ยังระบุถึงกระบวนการค้นคว้าข้อมูลและทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยใช้เวลานานกว่า 3–4 เดือน เนื่องจากต้องอัปเดตความรู้และวิธีการสร้างเกมให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยังต้องปรับปรุงการออกแบบกระบวนการและขั้นตอนให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ในการทำงานจริง

เกมห้องปริศนาอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นนี้ประกอบด้วยด่านหลากหลายรูปแบบที่ผู้เล่นจะได้เผชิญ เช่น ด่านเขาวงกตลึกลับ ด่านปริศนาของตัวตลก หรือด่านไขรหัสเพื่อปลดล็อกประตู โดย AI ในเกมจะช่วยสร้างปริศนาใหม่ ๆ ทุกครั้งที่เข้าเล่น ทำให้แต่ละรอบไม่ซ้ำกัน ทั้งจำนวนวัตถุ คำใบ้ ลำดับเหตุการณ์ หรือแม้แต่เส้นทางในเขาวงกตเองก็จะแตกต่างกันในแต่ละครั้ง

“แรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเรียนในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เกิดจากความชอบในการเขียนโค้ดและความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะ AI และการพัฒนาโปรแกรม อีกทั้งได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่และคนรู้จักที่เคยเรียนในสาขานี้ จึงตัดสินใจเข้าศึกษา และปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4” หนึ่งในผู้พัฒนาเกมห้องปริศนาอัจฉริยะใน Metaverse VR เปิดเผย

นายเสกสรรค์ ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตว่าความรู้และทักษะที่ได้รับจากการเรียนและโครงงานนี้สามารถต่อยอดไปสู่การทำงานจริงได้ทันที โดยเฉพาะการพัฒนาแอปพลิเคชัน การสร้างเกม หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการทำงานในบริษัทที่สนใจในผลงานด้านนี้ ซึ่งมีองค์กรหลายแห่งติดต่อเข้ามาหลังจากผลงานได้รับการเผยแพร่ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2568 ที่ผ่านมา

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.