ตลท. ชี้สหรัฐฯ เลื่อนเก็บภาษีตอบโต้ เป็นเดือนส.ค. ถือเป็นข่าวดี ระบุมีมาตรการรับมือเมื่อตลาดผันผวน เตือนอย่าเพิ่งตื่นข่าว “ทรัมป์” เก็บภาษีเพิ่ม 10% จากประเทศหนุนกลุ่ม BRIC แนะรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง พร้อมชูตลาดหุ้นไทยสุดแข็งแกร่งในช่วงสงคราม
วันที่ 7 ก.ค. 2568 นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยถึงกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้โพสต์ผ่านทรูธโซเชียล ถึงกำหนดเส้นตายการจัดเก็บภาษีตอบโต้ จากวันที่ 9 ก.ค. 2568 เลื่อนมีผลบังคับใช้เป็นวันที่ 1 ส.ค. 2568 ทั้งนี้คงต้องรอการยืนยันเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งหากมีการเลื่อนจริง ก็ถือว่าดีทำให้มีเวลาเตรียมตัว
แต่ถึงอย่างไรก็ก็มองว่ามีผลต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน และหากถูกเรียกเก็บสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ประเทศไทยก็จะลำบาก แต่หากเรียกเก็บภาษีต่ำกว่าก็ถือว่าเป็นข่าวดี ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูว่าสหรัฐฯ คิดอย่างไรกับข้อสรุปชุดใหม่ที่ทางไทยส่งไป
ทางด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. กล่าวว่าการเลื่อนเกณฑ์บังคับใช้ภาษีตอบโต้ มองว่าเป็นผลดีทำให้หลายประเทศมีเวลาในการเจรจารวมถึงประเทศไทย หลังจากบางประเทศบรรลุข้อตกลงไปก่อนแล้ว เช่น อังกฤษ จีน เวียดนาม ซึ่งตลท.มีมาตรการกำกับตลาด สำหรับรับมือจากความไม่แน่นอนจากเกณฑ์ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ
ส่วนกรณีประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศแผนที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% จากประเทศใดก็ตามที่สนับสนุน “นโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS” ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS เมื่อ ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมาด้วย โดยมองว่ายังไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนกโดยให้รอดูความชัดเจนเรื่องรายละเอียดอีกครั้่ง
ขณะที่นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมายและ บริหารกิจกรรมเพื่อสังคม ตลท. กล่าวว่าจากกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์มีมาตรการชั่วคราว โดยเฉพาะการปรับลดราคาสูงสุด-ต่ำสุดของวันที่เปิดทำการซื้อขาย (ซิลลิ่ง – ฟลอร์) เหลือ 15% จาก 30% จะเอื้อประโยชน์ต่อบางกลุ่ม เช่นกลุ่มที่ถูกบังคับขายหุ้น (ฟอร์ซเซล) หรือไม่ โดยยืนยันว่า การดำเนินมาตรการต่างๆ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งเรื่องการบังคับขายหุ้นเป็นหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ที่จะต้องดำเนินการบริหารความเสี่ยงกับลูกค้าเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ ทั้งการเรียกเงินวางหลักประกัน (Margin) หรือการบังคับขายหุ้น โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์
“หน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์เป็นการตรวจสอบภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว หากโบรกเกอร์รายใดทำตามกติการที่กำหนด เช่น หลักประกันลดลงไปต่ำถึงระดับ Call margin เราก็จะลงโทษ หรือเมื่อหลักประกันลดต่ำถึงระดับที่ต้องฟอร์ซเซลแล้ว แต่โบรกเกอร์ไม่ดำเนินการ เราก็จะลงโทษ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องเข้าไปตรวจสอบ และติดตามดูแลโบรกเกอร์ซึ่งเป็นสมาชิก ส่วนหน้าที่บริหารความเสี่ยงทั้ง Call margin และ ฟอร์ซเซล เป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ ที่ต้องดูแลตัวเอง” นายรองรักษ์กล่าว
ทั้งนี้นายศรพล กล่าวเสริมว่า ข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าแม้จะเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์หรือการประกาศสงคราม ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักเผชิญกับความผันผวนเพียงระยะสั้น ก่อนจะฟื้นตัวและกลับมาให้ผลตอบแทนในทิศทางบวกได้ภายในเวลาไม่นาน
ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในลักษณะเดียวกันตลอดเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักแนะนำว่าการรักษาวินัยการลงทุนและเดินหน้าตามกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง หรือ “Stay Invest” จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไม่พลาดโอกาสสำคัญ หากดัชนีตลาดสามารถพลิกกลับขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะถัดไป
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากภาคการผลิตและการเร่งส่งออกสินค้า ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่หลังจากวันสุดท้ายที่มีการเปิดขายกองทุนรวม Thai ESGX พบว่ามี Fund Flow ของผู้ลงทุนเข้ามาอยู่ในกรอบกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงหุ้นไทยในช่วงความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในหลายมิติผ่านโครงการ “JUMP+” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนมิ.ย. 2568 โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2568 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปิดที่ 1,089.56 จุด ปรับลดลง 5.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2568 ปรับลดลง 22.2% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 39,663 ล้านบาท ลดลง 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 41,856 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยในเดือนมิ.ย. 2568 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ.นูทริชั่น โปรเฟส (NUT) ขณะที่ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นมิ.ย. 2568 อยู่ที่ระดับ 11.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.3 เท่า ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นมิ.ย.68 อยู่ที่ระดับ 4.51% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.3%