“หมูไทย” ตัวแปรสำคัญ ที่ทีมเจรจาลดภาษีทรัมป์ ต้องปกป้อง โดยลักขณา นิราวัลย์
ไม่บ่อยนักที่ “หมู” จะกลายเป็นตัวละครเอกบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แต่ในนาทีนี้ สุกรได้กลายเป็นหนึ่งในสินค้าหัวตารางของโต๊ะเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ภายใต้แรงกดดันจากมาตรการทางภาษีที่สหรัฐขู่จะเก็บจากสินค้านำเข้าของไทยสูงถึง 36% หากทั้งสองประเทศไม่สามารถหาข้อตกลงการค้าใหม่ได้ภายในเส้นตาย 9 กรกฎาคมนี้
ทีมเจรจาของไทยนำโดยรองนายกรัฐมนตรี พิชัย ชุณหวชิร อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากการเดินบนเชือกเส้นเดียวเหนือเหวลึก เบื้องหน้าคือการรักษาความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของไทย ขณะที่เบื้องหลังคือชะตากรรมของเกษตรกรไทยหลายแสนชีวิตที่อาจต้องล้มครืน หากมีการเปิดนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ โดยไร้หลักประกัน
สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้ไทยเปิดตลาดให้สินค้าทางการเกษตรของพวกเขามากขึ้น โดยเฉพาะหมูแปรรูปจากฟาร์มอุตสาหกรรมที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าไทยมาก และมักใช้สารเร่งเนื้อแดง (ractopamine) ซึ่งไทยประกาศห้ามใช้อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค
ข้อเสนอของสหรัฐฯ อาจดู “น่าสนใจในเชิงตัวเลข” สำหรับนักเศรษฐศาสตร์บางสาย แต่สำหรับผู้เลี้ยงหมูไทยแล้ว มันคือฝันร้ายที่ทำลายได้ทั้งอาชีพ ครอบครัว หรือแม้แต่ชีวิตเลยทีเดียว
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเคยออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ โดยยืนยันว่าหากรัฐบาลยอมเปิดตลาดให้หมูสหรัฐฯ ไหลทะลักเข้ามา โดยเฉพาะหมูราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมายไทย เกษตรกรจะไม่สามารถแข่งขันได้ และฟาร์มขนาดเล็ก-กลาง ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของระบบปศุสัตว์ไทย จะต้องล้มหายตายจากในเวลาอันรวดเร็ว
ไม่ใช่แค่ฟาร์มหมูเท่านั้นที่จะเดือดร้อน แต่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง ไปจนถึงโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ และตลาดสดทั่วประเทศ จะได้รับผลกระทบลุกลามเป็นลูกโซ่ นี่ไม่ใช่เรื่องของ “สินค้า” อย่างเดียวอีกต่อไป แต่มันคือ “ความมั่นคงทางอาหาร” คือ “โครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก” และคือ “อธิปไตยของผู้บริโภคไทย”
ถ้าไทยยอมเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรที่ขัดต่อมาตรฐานด้านสุขภาพของเราเอง แล้วจะรักษาความมั่นใจของประชาชนต่อระบบอาหารไทยได้อย่างไร?
ท่ามกลางกระแสกดดันจากสหรัฐฯ ทีมเจรจาของไทยยังคงรักษาจุดยืนอย่างมีศักดิ์ศรี โดยรองนายกฯ พิชัย ยืนยันหนักแน่นว่า ทีมของเขาจะไม่ยอมทำข้อตกลงที่บั่นทอนผลประโยชน์ระยะยาวของชาติ พร้อมย้ำว่าจะเสนอข้อตกลงที่เป็น “win-win อย่างแท้จริง” ซึ่งทั้งไทยและสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของเกษตรกร
หนึ่งในข้อเสนอที่ทีมไทยกำลังผลักดันคือ การเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ในหมวดที่ “ไม่เป็นภัย” ต่อระบบอาหารของไทย เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งไทยมีความต้องการอยู่แล้วในบางฤดูกาล รวมถึงผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล เบอร์รี่ หรือเชอร์รี่ ที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์
แนวทางนี้นับเป็น“ข้อแลกเปลี่ยนที่สมเหตุสมผล” สหรัฐฯได้ขยายการส่งออกสินค้าเกษตร ไทยได้รักษาความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของประชาชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรยังสามารถอยู่รอดต่อไปได้โดยไม่ต้องแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม นี่คือท่าทีของประเทศที่รู้จักเลือกยืนอย่างสง่างาม ไม่ใช่ก้มหน้าเพียงเพื่อเอาตัวรอดในระยะสั้น เพราะหากวันนี้เรายอมแพ้ในจุดเล็ก ๆ อย่างหมูและเครื่องในหมู วันข้างหน้าเราก็อาจต้องยอมในสินค้าอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบยิ่งกว่านี้ ทั้งผลิตภัณฑ์ประมง อาหารแปรรูป หรือแม้แต่พืชดัดแปลงพันธุกรรม
แม้การเจรจาในรอบนี้ยังไม่สามารถปิดดีลได้ แต่การที่ทีมไทยไม่รีบเซ็นลงชื่อในข้อตกลงที่ “ขายผลประโยชน์ชาติ” เพื่อเลี่ยงภาษี ถือเป็นท่าทีที่ควรได้รับเสียงชื่นชมมากกว่าคำตำหนิ ในยามที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ “คิดแบบนักธุรกิจ” ทีมเจรจาของไทยเลือกที่จะ“คิดแบบผู้รักษาแผ่นดิน” เพราะเกษตรกรคือหัวใจของความมั่นคง เพราะผู้บริโภคต้องได้กินของดี และเพราะการเจรจาทางการค้า ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ขอชื่นชมรองนายกฯ พิชัยและทีมเจรจา ที่ยังคงใช้ “สมองในการต่อรอง”และ“หัวใจในการยืนหยัด” เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทยในสนามการค้าระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้ หากทุกฝ่ายยอมฟังกันอย่างมีเหตุมีผล และหากประเทศไทยยังคงยึดมั่นในหลักการนี้ต่อไป เชื่อว่าไม่เพียงแต่จะได้ “ดีลที่ดี” แต่จะได้ “อนาคตที่มั่นคง” กลับคืนมาด้วย