พม.จัดให้ 'DepFund' แอปฯ กู้เงินคนพิการ
GH News July 08, 2025 12:05 PM

ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางอย่าง “คนพิการ” คือหนึ่งในประชากรที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเข้าถึงโอกาสที่ควรจะเท่าเทียมเหมือนคนทั่วไปการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ภาครัฐ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

หนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือ การให้กู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ สำหรับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีวงเงินกู้ยืมรายบุคคล รายละ 60,000 บาท  หากมีผู้ประสงค์จะขอกู้เกินกว่าวงเงินที่กำหนดให้มีการพิจารณาได้ไม่เกิน 120,000 บาท และรายกลุ่มไม่เกินกลุ่มละ  1 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขผ่อนชำระได้นานถึง 5 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ระบบการให้บริการผู้กู้ต้องเดินทางมาติดต่อด้วยตนเอง ใช้เอกสารจำนวนมาก และรับเงินผ่านเช็คเท่านั้น จนเกิดความล่าช้าและไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “DepFund” นวัตกรรมดิจิทัลให้คนพิการ บริหารจัดการเงินกู้ยืมกองทุนฯ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ที่ช่วยให้ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการกู้ยืม ตรวจสอบสถานะ ส่งสัญญา และชำระเงินได้สะดวก ทันต่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า มีคนพิการในประเทศไทยจำนวนกว่า 2 ล้านราย  คิดเป็นร้อยละ 3.39 ของประชากรไทยทั้งประเทศ (ข้อมูล 30/4/68 ) ซึ่งในจำนวนนี้ มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการใช้บริการการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ ของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตั้งแต่ปี 2538-ปัจจุบัน จำนวนกว่า 300,000 ราย รวมเป็นจำนวนเงิน 11,284 ล้านบาท (ข้อมูล 16/5/68)

วราวุธ ศิลปอาชา

“หัวใจของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนพิการ คือโอกาสในการประกอบอาชีพ และแอปพลิเคชัน DepFund พยายามเข้ามาเติมเต็ม เพื่อให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว สามารถดำเนินการยื่นกู้ ตรวจสอบสถานะ และรับเงินโอนผ่านบัญชีธนาคารได้ภายในแอปฯ เดียว เข้าถึงได้ทั้งระบบ Android และ iOS เพราะการกู้เงินในอดีตเต็มไปด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทั้งเอกสารมากมาย การเดินทางไปยังหน่วยงานราชการที่อาจจะไม่สะดวก และการรอคอย ยิ่งสำหรับพี่น้องคนพิการ ความซับซ้อนเหล่านี้ยิ่งเป็นอุปสรรคที่ไม่ควรมองข้าม” รมว.พม. กล่าว

ด้านอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเสริมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กองทุนฯ ตั้งเป้าหมายจำนวนคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการใช้บริการกู้ยืมเงินกองทุนฯ จำนวน 15,000 ราย จำนวนเงินกู้ 1,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ กู้ยืมเงินกองทุนฯ จำนวน 6,632 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 339 ล้านบาท (ข้อมูล 28/5/ 68)

ปลัด พม. กล่าวต่อว่า การกู้ยืมเงินเพื่อไปประกอบชีพหรือขยายกิจการสัดส่วนจะอยู่ในภาคการเกษตรประมาณ 43% รองลงมาคือ ค้าขาย 37% งานช่างและบริการ 12% และอาชีพอื่นๆ 8%  นอกจากนี้ทางกระทรวง พม. ยังได้มีการส่งเสริมในการฝึกทักษะด้านอาชีพหรือการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้สะดวกและลดภาระในการเดินทาง  เป็นต้น

อนุกูล ปีดแก้ว

ทั้งนี้โดยการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ จะต้องผ่อนชำระคืนภายในไม่เกิน 5 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย สำหรับการกู้ยืมเงินกองทุนฯ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. การกู้รายบุคคล รายละไม่เกิน 60,000 – 120,000 บาท และ 2. การกู้รายกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท และหากผู้กู้ยืมไม่ชำระหนี้ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายตามลำดับต่อไป

“ขณะนี้ทาง พม. ยังได้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขและปรับปรุง “นิยามของคนพิการ” ให้มีความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจตรงกันในทุกภาคส่วน เนื่องจากในปัจจุบันแต่ละหน่วยงานยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ยกตัวอย่างกรณีของบุคคลที่ตาบอดข้างหนึ่ง แต่อีกข้างยังมองเห็นปกติ ตามนิยามของ พม. ยังไม่ถือว่าเป็นคนพิการ ขณะที่ในทางการแพทย์จัดว่าเป็นคนพิการแล้ว เป็นต้น โดย พม. มีข้อมูลผู้ที่ได้รับการออกบัตรคนพิการในระบบประมาณ 2.1 ล้านราย ขณะที่คณะกรรมาธิการระบุว่ามีคนพิการถึง 3.7 ล้านราย และเครือข่ายคนพิการระบุว่ามีราวๆ 4.1 ล้านราย” ปลัด พม. กล่าว

ปลัด พม. กล่าวต่อว่า การจัดทำนิยามให้ชัดเจน อาจจะคลายข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงมีผู้ที่ลักษณะเหมือนคนพิการแต่ยังไม่ได้รับบัตรคนพิการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และสามารถให้ความช่วยเหลือกับผู้พิการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

จารุดา ศรีนวกุล- น้องวิว ปาลิดา ไชยนิตย์ เจ้าของร้านเสื้อยืด chick

จารุดา ศรีนวกุล คุณแม่ของน้องวิว-ปาลิดา ไชยนิตย์ เจ้าของร้านเสื้อยืด chickเล่าว่า การได้กู้เงินในนามผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งน้องวิวเป็นเด็กพิเศษ แต่มีความสามารถในการวาดภาพน่ารักๆลงบนเสื้อ แต่เนื่องจากเกิดปัญหาเรื่องของการขาดแคลนเสื้อบางไซต์  จึงได้กู้เงินกับทางกระทรวง พม. ซึ่งในช่วงที่กู้ยืมเป็นบริการแบบเดิม แต่สามารถโอนชำระยอดหนี้ได้ผ่านแอปฯ ธนาคาร แต่หลังจากเปิดตัวแอปฯ DepFund จะต้องดาวน์โหลดมาใช้งาน จะได้สะดวกในการดูยอดในระบบต่างๆ  ปัจจุบันสต๊อกสินค้าได้เยอะ และทำเสื้อได้หลากหลายลายมากยิ่งขึ้น

 สำหรับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่สนใจกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนสำหรับประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ สามารถยื่นคำร้องได้ทาง https://efund.dep.go.th/  และสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “DepFund” ได้ทั้งระบบ Android และ iOS

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.