บริกส์ซัมมิตที่แซมบา
GH News July 08, 2025 07:07 PM

ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ การประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกกลุ่มประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือบริกส์ซัมมิต ครั้งที่ 17 ประจำปี 2025 (พ.ศ. 2568) ซึ่งมีขึ้นที่นครริวเดจาเนโร เมืองหลวงของรัฐริวเดจาเนโร ประเทศบราซิล ถิ่นแซมบา ในระหว่างวันที่ 6 – 7 กรกฎาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา

โดยมีผู้นำ หรือตัวแทนผู้นำจาก 10 ชาติสมาชิกเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี

เหล่าผู้นำชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์ และบรรดาประเทศหุ้นส่วนของบริกส์ ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันบนเวทีการประชุมสุดยอด หรือบริกส์ซัมมิต ที่จัดขึ้นในนครริวเดจาเนโร รัฐริวเดจาเนโร ประเทศบราซิล (Photo : AFP)

ว่ากันถึงกลุ่มบริกส์นี้ เดิมทีประกอบด้วย 4 ชาติสมาชิกเท่านั้น คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน อันเป็นที่มาของชื่อ คือ บริก (BRIC) ที่นำพยัญชนะตัวแรกของชื่อประเทศที่เป็นภาษาอังกฤษ มารวมกัน คือ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) ซึ่งการสถาปนากลุ่ม เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2009 (พ.ศ. 2552)

ก่อนที่ในปีถัดมา คือ 2010 (พ.ศ. 2553) “บริก (BRIC)” ก็กลายเป็น “บริกส์ (BRICS)” เมื่อ “แอฟริกาใต้ (South Africa)” เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย เพราะพยัญชนะตัว “เอส (S)” ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของชื่อประเทศ มาต่อเข้าด้วยกัน

หลังจากนั้น “บริกส์” ก็ขยายชาติสมาชิก จนเป็น 10 ประเทศอย่างเป็นทางการ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี แต่ชื่อของกลุ่ม ก็ยุติแต่เพียง “บริกส์” เท่านั้น ไม่มีการนำพยัญชนะตัวแรกของชื่อประเทศ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่มาต่อเติม

ปัจจุบันมีหลายประเทศสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของบริกส์ รวมทั้งที่เป็นบรรดาชาติที่เป็นหุ้นส่วน โดยมีไทย อยู่ในกลุ่มประเทศหุ้นส่วนของบริกส์ด้วย จนถือได้ว่า เป็นกลุ่มองค์การระหว่างประเทศ ที่มาแรง จนเป็นที่น่าจับตา แม้กระทั่ง “สหรัฐอเมริกา” ก็ยังจับจ้องมองตาไม่กะพริบ

ดังปรากฏเหตุการณ์ล่าสุดที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาขู่ว่า จะปรับขึ้นภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 10 ต่อบรรดาประเทศกลุ่มบริกส์ รวมถึงประเทศที่สนับสนุนนโยบายของกลุ่มบริกส์ โดยอ้างเหตุผลว่า เพราะขัดผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ การออกมาข่มขู่ข้างต้น มีขึ้นในระหว่างที่กลุ่มบริกส์ กำลังประชุมสุดยอด หรือซัมมิต ประจำปี 2025 ครั้งที่ 17 ที่นครริวเดจาเนโร รัฐริวเดจาเนโร ประเทศบราซิล รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพแบบหมุนเวียน ในการประชุมสุดยอดดังกล่าว

โดยมีรายงานว่า ในที่ประชุมบริกส์ซัมมิต ที่นครริวเดจาเนโร ได้หยิบยกเรื่องนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ หรือที่เรียกว่า นโยบายการจัดเก็บอัตราภาษีศุลกากรเพื่อตอบโต้ ขึ้นมาหารือในวงประชุมกันด้วย ก่อนที่ในที่ประชุมจะวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ จัดเป็นภัยคุกคามการค้าโลก ที่น่าวิตกกังวล

การประชุมหารือของผู้นำและตัวแทนของชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์ และชาติหุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์ ในนครริวเดจาเนโร รัฐริวเดจาเนโร ประเทศบราซิล (Photo : AFP)

อย่างไรก็ดี ในการประชุมสุดยอดบริกส์ซัมมิตหนนี้ ปรากฏว่า มีผู้นำบางประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อทางกลุ่มด้วย ไม่เดินทางมาเข้าร่วมประชุม

ได้แก่ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน” ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง แต่ส่ง “นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน” เข้าร่วมแทน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ชาติสมาชิกบริกส์ที่สำคัญ ไม่ได้เข่าร่วมบริกส์ซัมมิติในครั้งนี้ (Photo : AFP)

ก็ต้องถือเป็นครั้งแรกในกว่าหนึ่งทศวรรษเลยทีเดียว ที่ประธานาธิบดีจีน ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดบริกส์ซัมมิต นับตั้งแต่ยุคของนายหู จิ่นเทา อดีตผู้นำจีน เมื่อปี 2012 (พ.ศ. 2555) หรือ 13 ปีที่แล้ว

ส่งผลให้กลายเป็นคำถามตัวโตๆ ถึงการไร้เงาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน บนเวทีบริกส์ซัมมิตในถิ่นแซมบาที่มีขึ้น

ทั้งนี้ ก็ด้วยความสำคัญของจีน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหัวใจหลักสำคัญของกลุ่มบริกส์ ทั้งในเรื่องของพลังการขับเคลื่อน และการผลักดันต่างๆ อันรวมไปถึงขั้นการปฏิรูปดุลอำนาจโลกผ่านกลุ่มบริกส์ เพื่อให้เป็น “โลกหลายขั้ว” ขึ้นนั่นเอง มิใช่ให้ผูกขาดอยู่แต่ในมือของมหาอำนาจชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ เท่านั้น

นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมประชุมสุดยอดบริกส์ซัมมิต ที่นครริวเดจาเนโร ประเทศบราซิล แทนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน (Photo : AFP)

บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่ได้อยู่บนเวทีบริกส์ซัมมิตครั้งนี้ ก็ต้องถือว่า ผู้นำจีนพลาดโอกาสสำคัญ ในการแสดงให้เหล่าชาติสมาชิกของบริกส์ และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายว่า จีน เป็น “ผู้นำทางเลือก” ที่มั่นคงแทนที่สหรัฐฯ ซึ่งทางการจีน ได้พยายามนำเสนอภาพลักษณ์ดังกล่าว ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ตลอดช่วงที่ผ่านมา

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายทรัมป์ ที่ดำเนินนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนยิ่งยกระดับภาพลักษณ์ข้างต้นเพิ่มมากยิ่งขึ้น

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ต้องอยู่เฝ้าโยงในกรุงปักกิ่ง โดยส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง มาประชุมแทนนั้น บรรดานักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะว่า เพราะจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายเป็นประการต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเศรษฐกิจ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนไม่น้อยเหมือนกัน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็กำลังสาละวนกับการวางแผนเส้นทางการครองอำนาจในอีก 5 ปีข้างหน้า สำหรับการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งสำคัญที่จะมีขึ้นในปีนี้

ผู้นำประเทศอีกหนึ่งคน ที่ไม่ได้มาขึ้นเวทีการประชุมบริกส์ซัมมิตครั้งนี้แบบตัวเป็นๆ แต่มาร่วมโดยใช้ช่องทางการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หรือการะชุมทางไกลแบบข้ามทวีปเลยทีเดียว นั่นก็คือ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย โดยประธานาธิบดีปูติน ได้ส่งนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย เดินทางมาเข้าร่วมแทนด้วย ควบคู่ไปกับวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ของเขา

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประชุมสุดยอดบริกส์ซัมมิต ที่ประเทศบราซิลเป็นเจ้าภาพ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Photo : AFP)

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ประธานาธิบดีปูติน ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมประชุมแบบตัวเป็นๆ ได้นั้น ก็เพราะมีชนักติดหลังจากหมายจับศาลอาญาระหว่างประเทศ ในคดีอาชญกรรมสงคราม จากการที่เขาทำสงครามกับยูเครน ซึ่งทางการบราซิล ยังได้ลงนามในศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย โดยถ้าหากประธานาธิบดีปูติน เดินทางมาบราซิล ก็เสี่ยงที่จะถูกทางการบราซิลจับกุมตัวได้ ดังนั้น เขาจึงใช้วิธีนี้ เหมือนกับการประชุมบริกส์ซัมมิตที่แอฟริกาใต้ครั้งก่อนหน้า ซึ่งแอฟริกาใต้ ก็ได้ลงนามในศาลอาญาระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.