DSI เผยแพร่คำพิพากษา จำคุก – ปรับ 70 ผู้ต้องหา ชดใช้เงินคืนผู้เสียหาย กรณี จับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์รายใหญ่ในพื้นที่นครศรีธรรมราช
วันที่ 8 ก.ค.68 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเผยแพร่คำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสง คดีหมายเลขดำ ที่ อ 467/2567 คดีหมายเลขแดง ที่ อ 397/2568 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 กรณีการร่วมปฏิบัติการตรวจค้นเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ชาวไทยและชาวจีนรายใหญ่ที่สุดเท่าที่ตรวจพบในประเทศไทย ซึ่งสามารถควบคุมชาวต่างชาติที่กระทำผิดแล้วตรวจยึดหลักฐานได้เป็นจำนวนมาก
กรณีดังกล่าวเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบทราบว่าเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2566 มีกลุ่มเครือข่ายชาวไทยและชาวจีนใช้สถานที่ในประเทศไทยตั้งสำนักงานหลอกลวงผู้เสียหายทางโทรศัพท์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์กระทั่งสืบทราบว่าเป็นโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโรงแรมตึกแถว จำนวน 5 คูหา 4 ชั้น มีห้องพัก จำนวน 22 ห้อง โดยจะมีกลุ่มคนร้ายที่เป็นคนไทยทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ป้องกันบุคคลเข้า - ออกภายในอาคาร มีชาวจีนและชาวไทยหลายสิบคนนั่งทำงาน ซึ่งมีพฤติการณ์การกระทำความผิดในลักษณะเป็นแก๊งหลอกลวงผู้เสียหาย โดยใช้จุดที่ตรวจค้นดังกล่าวเป็นสำนักงานในการหลอกลวงผู้เสียหายที่อยู่ในต่างประเทศ มีการแชตสนทนาเป็นภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษารัสเซีย และภาษาไทย ด้วยอุปกรณ์แปลภาษา โดยในแต่ละจุดเกิดเหตุได้มีการตรวจพบหนังสือเดินทางจากประเทศจีน ที่ใช้เดินทางเข้า - ออกประเทศกัมพูชาบ่อยครั้ง บางส่วนมีการอยู่เกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตเข้าประเทศ และพบโทรศัพท์มือถือจำนวนมากที่ใช้ในการส่งลิงก์เพื่อให้เหยื่อมีการคลิกลิงก์
โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศบูรณาการทางการข่าวและตรวจค้นจับกุมร่วมกับกองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี 5 ตำรวจภูธร ภาค 8 สำนักงาน กสทช. สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมการจัดหางาน ลงพื้นที่ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม พร้อมกัน 3 จุด และขยายผลระหว่างตรวจค้นอีก 1 จุด ในอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการตรวจค้น ได้จับกุมผู้ต้องหาชาวจีน จำนวน 52 คนชาวไทย จำนวน 19 คน รวม 71 คน คอมพิวเตอร์ จำนวน 223เครื่อง โทรศัพท์ จำนวน 1,001 เครื่อง ไอแพด จำนวน 14 เครื่อง ซิมการ์ด จำนวน 298 ซิม สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 86 เล่ม และสินค้าหลีกเลี่ยงศุลกากรอีกจำนวนมากจึงได้แจ้งข้อหาตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเรื่องจัดหาบัญชีม้า ซิมม้า นำส่งพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุดำเนินคดี และต่อมาได้มีการโอนสำนวนการสอบสวนไปยังกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5
ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดทุ่งสง ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาชาวจีน 52 คน ชาวไทย 16 คน และนิติบุคคล จำนวน 2 ราย รวม 70 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐาน อั้งยี่ ซ่องโจร ฉ้อโกงประชาชน ความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และความผิดตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยศาลจังหวัดทุ่งสงได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1- 68 ซึ่งเป็นคนจีนและคนไทยทุกราย สำหรับในส่วนของนิติบุคคลที่เป็นจำเลยที่ 69 และ70
ศาลลงโทษปรับคนละ 88,000 บาท และให้จำเลยทั้ง 70 คน ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายชาวญี่ปุ่น จำนวน 2 ราย โดยให้คืนเงินจำนวน 10,670,000 เยนหรือ 2,475,636.47 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 และจำนวน 450,000 เยนหรือ 10,408.29 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 2