ขั้นตอนรับสิทธิ์ 'รถไฟฟ้า 20 บาท' ดีเดย์ราคาเดียวเริ่ม 1 ต.ค.นี้
bangkokbiz July 10, 2025 11:08 AM

มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายในราคาไม่เกิน “20 บาทตลอดสาย” จัดอยู่ในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้คำมั่นไว้กับประชาชนว่าจะเร่งดำเนินการ ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการกำหนดอัตราค่าโดยสารดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ครอบคลุมการเดินทางในโครงข่ายรถไฟฟ้า 13 เส้นทาง รวมระยะทาง 286.84 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  • สายสีแดงเข้ม ช่วงกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต ระยะทาง 26.30 กิโลเมตร
  • สายสีแดงอ่อน ช่วงกรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กิโลเมตร
  • แอร์ พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท - สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.70 กิโลเมตร
  • สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง ระยะทาง 20 กิโลเมตร
  • สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง - บางแค (หลักสอง) ระยะทาง 14 กิโลเมตร
  • สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทาง 13 กิโลเมตร
  • สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - เตาปูน ระยะทาง 23 กิโลเมตร
  • สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ระยะทาง 30.40 กิโลเมตร
  • สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ระยะทาง 34.50 กิโลเมตร
  • สายสีเขียว (สุขุมวิท) ช่วงหมอชิต – สมุทรปราการ ระยะทาง 37.10 กิโลเมตร
  • สายสีเขียว (สุขุมวิท) ช่วงหมอชิต - สะพานใหมา - คูคต ระยะทาง 18.70 กิโลเมตร
  • สายสีเขียว (สีลม) ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า ระยะทาง 14 กิโลเมตร
  • สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน ระยะทาง 1.88 กิโลเมตร

โดยกระทรวงคมนาคมประกาศเงื่อนไขผู้ที่จะได้รับสิทธิค่าโดยสาร “รถไฟฟ้า 20 บาท” จะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดดังนี้

1.ใช้สิทธิได้เฉพาะผู้โดยสารที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก

2.เดินทางด้วยบัตรโดยสาร 2 ประเภท คือ

  • บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ที่มีสัญลักษณ์ EMV Contactless มีแถบแสกนสำหรับแตกเพื่อชำระเงิน
  • บัตร Rabbit Card แบบ ABT ซึ่งหมายถึงบัตร Rabbit ที่ผูกกับบัญชีธนาคารและมีการตัดเงินจากบัญชีอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเติมเงิน

3.ประชาชนต้องลงทะเบียนบัตรโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”

4.กรณีเดินทางข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้า ผู้โดยสารต้องเดินทางเข้า – ออกบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าที่กำหนดไว้เท่านั้น

ทั้งนี้ หากผู้โดยสารดำเนินการไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จะต้องชำระค่าโดยสารในราคาปกติ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้ กระทรวงฯ จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และภายใน 1 ต.ค. 2568 จะเริ่มดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล และภายหลังจากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้โครงสร้างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเปิดระบบสแกน QR Code ในมือถือแทนการใช้บัตร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ค่าโดยสารในช่วงปีงบประมาณ 2569 รวมทั้งสิ้น 5,512 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงข่ายรถไฟฟ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชดเชยรวม 666 ล้านบาท แหล่งที่มาของบมาจากงบประมาณแผ่นดิน แบ่งเป็น

  • รถไฟชานเมืองสายสีแดง ชดเชย 189 ล้านบาท
  • รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ชดเชย 477 ล้านบาท

2.โครงข่ายรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชดเชยรวม 2,321 ล้านบาท แหล่งที่มาของงบมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมหรือแหล่งเงินอื่นที่เหมาะสม แบ่งเป็น

  • รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 1,192 ล้านบาท
  • รถไฟฟ้าสายสีม่วง 480 ล้านบาท
  • รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 249 ล้านบาท
  • รถไฟฟ้าสายสีชมพู 400 ล้านบาท

3. โครงข่ายรถไฟฟ้าของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชดเชยรวม 2,525 ล้านบาท แหล่งที่มาของงบยังไม่ระบุ เนื่องจากมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับไปพิจารณา แบ่งเป็น

  • รถไฟฟ้าสายสีเขียว 2,503 ล้านบาท
  • รถไฟฟ้าสายสีทอง 22 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคม ยังประมาณการผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วง 1 ปี ในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับผลประโยชน์ จะประกอบด้วย 3 ด้าน เป็นประโยชน์ในงบประมาณ 2569 รวม 10,049.73 ล้านบาท ได้แก่

1. ด้านเศรษฐกิจ ประเมินจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ 7,360.43 ล้านบาท

2. ด้านสังคม ประเมินจากค่าความสุข และ การลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ 2,612.02 ล้านบาท

3. ด้านสิ่งแวดล้อม ประเมินจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 77.28 ล้านบาท

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.