บัตรทองอัปเกรด!ดัน 'AI อ่านฟิล์มเอกซเรย์' นำร่องรพ.รัฐ 157 แห่ง
bangkokbiz July 10, 2025 02:29 PM

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม บอร์ด สปสช. ครั้งที่ 7/2568 เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ “บริการอ่านภาพรังสีทรวงอก (chest x-ray) ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI)” เป็นสิทธิประโยชน์บริการการแพทย์ขั้นสูงสุดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)

พร้อมสนับสนุนให้เกิดการใช้นวัตกรรมดังกล่าวจากบัญชีนวัตกรรมไทยในโรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 167 แห่ง ในวงเงินไม่เกินจำนวน 55 ล้านบาท ของปีงบประมาณ 2568 และให้ดำเนินการขยายบริการตามศักยภาพในปีถัด ๆ ไป โดยการเลือกโรงพยาบาล 167 แห่งแรก ในการให้บริการจะใช้กลไกการมีส่วนร่วมจากกระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล, ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง 

หนุน AI อ่านฟิล์มเอกซเรย์ ในรพ.ภาครัฐ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่มาของสิทธิประโยชน์บริการนี้ สืบเนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับบริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด (Perceptra) พัฒนานวัตกรรมการวิเคราะห์ภาพรังสีทรวงอกด้วยปัญญาประดิษฐ์ และได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ Singapore FDA ตลอดจนขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งต่อมาได้ทำข้อเสนอมายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สนับสนุนการใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวในโรงพยาบาลจำนวน  887 แห่ง ไม่รวมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 

ทั้งนี้ การดำเนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายอย่างครอบคลุมภายใน 3 ปี คือ

1. ระยะแรก ปีงบประมาณ 2568 สปสช. สนับสนุนบริการในโรงพยาบาลจำนวน 167 แห่ง ใช้งบประมาณจำนวน 55 ล้านบาทต่อปี 

2. ระยะที่สอง ปีงบประมาณ 2569 สนับสนุนบริการในโรงพยาบาลจำนวน 445 แห่ง ใช้งบประมาณจำนวน 135 ล้านบาทต่อปี 

3. ระยะที่สาม ปีงบประมาณ 2570 สนับสนุนบริการในโรงพยาบาลจำนวน 887 แห่ง ใช้งบประมาณอีกจำนวน 225 ล้านบาทต่อปี 

“บริการนี้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะวัณโรคและมะเร็งปอด รวมถึงลดภาระงานการอ่านภาพรังสีทรวงอกของแพทย์ ทั้งในโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ขาดผู้เชี่ยวชาญ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีภาระงานจำนวนมาก ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาในประเทศไทยที่มีมาตรฐานสากลด้วย” นายสมศักดิ์ ระบุ 

 

บัตรทองอัปเกรด!ดัน \'AI อ่านฟิล์มเอกซเรย์\' นำร่องรพ.รัฐ 157 แห่ง

ช่วยค้นหาผู้ป่วยวัณโรค-มะเร็งปอด ได้เร็วขึ้น 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ ทาง สปสช. จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำภาพถ่ายรังสีทรวงอกมาทบทวนย้อนหลัง 5 ปี เพื่อค้นหาผู้ป่วยเดิมที่อาจจะยังไม่ได้รับการรักษาจากผลการวินิจฉัยในขณะนั้น และนำผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงวิเคราะห์ประสิทธิภาพของระบบ 

นอกจากนี้ สปสช. จะร่วมกับหน่วยวิชาการที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียนการดำเนินงาน ผลลัพธ์ และประสบการณ์ของการให้บริการในปีแรก เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการในปีที่ 2 ตลอดจนพิจารณาด้านภาระงบประมาณ

อีกทั้ง จะจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการ และกำหนดพื้นที่เป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองวัณโรค กรมควบคุมโรค, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์, ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ (Service Plan) สาขาต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ 

“เมื่อมีการใช้ AI มาช่วยคุณหมออ่านภาพ x-ray แล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้สามารถพบและนำผู้ป่วยวัณโรค เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งเป็นอีกปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของไทยมาอย่างยาวนาน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

บัตรทองอัปเกรด!ดัน \'AI อ่านฟิล์มเอกซเรย์\' นำร่องรพ.รัฐ 157 แห่ง
 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.