'วรวงศ์' สวน 'ธาริษา' ปมตั้งผู้ว่าแบงก์ชาติ ไม่เห็นด้วย 'ใกล้ชิดรัฐบาล=เสื่อมเชื่อมั่น'
GH News July 10, 2025 06:07 PM

‘วรวงศ์’ สวน ‘ธาริษา’ เหตุร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงคลังบี้เลือกผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ระบุไม่เห็นด้วย ปม ‘ใกล้ชิดรัฐบาล = เสื่อมความเชื่อมั่น’ ชี้เป็นการตั้งธงข้อสรุปล่วงหน้าโดยขาดหลักฐาน เหมารวมโดยไม่ยุติธรรม มองหลักความเป็นอิสระสามารถเดินร่วมรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องขัดแย้ง

10 ก.ค. 68 – นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ตอบโต้กรณีที่นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 8 ก.ค. 2568 ว่า ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งผมเห็นพ้องตรงกันกับท่านว่า ผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินของประเทศ จึงต้องพิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ แคนดิเดททั้งสองท่านผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย เป็นผู้มีความสามารถดีเยี่ยม ทั้งสองท่านเหมาะสมกับตำแหน่งทุกประการ

“ส่วนตัวผมยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของธนาคารกลางเสมอมา และเชื่อว่าความเป็นอิสระนั้นสามารถเดินร่วมรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน” นายวรวงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นพ้องด้วยกับบางข้อความในจดหมาย โดยเฉพาะกรณีที่ ดร.ธาริษา ระบุว่า หากผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ “ใกล้ชิดรัฐบาล” จะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเสื่อมถอย ซึ่งถือเป็นการตั้งธงข้อสรุปล่วงหน้าโดยขาดหลักฐาน และเป็นการเหมารวมโดยไม่ยุติธรรม

“ความใกล้ชิดกับรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่าจะขาดความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายเสมอไป ตัวอย่างเช่น คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ท่านปัจจุบัน ก็เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากลว่าเป็นผู้ดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นอิสระจากรัฐบาลอย่างแท้จริง” นายวรวงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายวรวงศ์ยังชี้ว่า การทำงานร่วมกันระหว่าง ธปท. และรัฐบาลภายใต้เป้าหมายเศรษฐกิจร่วมกัน ไม่ได้ลดความเป็นอิสระ หากแต่สามารถส่งเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ ปัจจุบัน รัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2567 สูงถึง 1.13 ล้านล้านบาท และในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังเพิ่มขึ้นถึง 97% จากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน หาก ธปท. มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับรัฐบาล จะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นเป็นทวีคูณ

 โต้ มายาคติ “ค่าเงินอ่อน-ดอกเบี้ยต่ำ” คือเศรษฐกิจไม่ดี

นายวรวงศ์ ยังแสดงความเห็นว่า การยกตัวอย่างของ ดร.ธาริษา ที่มองว่าค่าเงินบาทอ่อนและดอกเบี้ยต่ำสะท้อนภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เป็นการสร้างมายาคติที่คลาดเคลื่อน พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยเป็น “เศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด (Small open economy)” ซึ่งพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวสูง การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับเหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัว

“ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจเล็กและเปิด (Small open economy) เงินเฟ้อไทยจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน (Supply) ที่มาจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น-ลง ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของนโยบายการเงินที่จะควบคุมได้” นายวรวงศ์ อธิบายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในอดีต ดร.ธาริษา เคยใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงและเงินบาทแข็ง ส่งผลให้ Nominal GDP เติบโตลดลงเหลือเฉลี่ย 3% กว่า ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าของ ม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล ที่เติบโตเฉลี่ย 5 ต่อปี% และเมื่อคิดในรูปของ Real GDP ช่วง ดร.ธาริษา ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.6% ต่อปี ขณะที่สมัย ม.ร.ว. ปรีดียาธร อยู่ที่ 2.4% ต่อปี ส่วนในปัจจุบันภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เฉลี่ยอยู่ที่ 2.0% ทุกไตรมาส

นอกจากนั้น จากข้อมูลพบว่า สมัย ดร.ธาริษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท. ค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 37.66 บาทต่อดอลล่าร์ เป็น 30.55 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่งจาก 43.5% เป็น 57.9% ต่อจีดีพี

 เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่จับตา “เงินเฟ้อติดลบ”

นายวรวงศ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงขยายตัว โดยตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2567 จนถึงปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3% ติดต่อกัน 3 ไตรมาส และคาดว่าไตรมาส 2 ของปี 2568 ก็จะยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล คือ ภาวะเงินเฟ้อติดลบ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน อยู่ในช่วงระหว่าง -0.57% ถึง -0.22% โดยแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (YoY) จะติดลบ แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกเล็กน้อย และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปรายเดือนเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ยังคงมีลักษณะลดลงสลับกับเพิ่มขึ้นบ้างจึงยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนมิถุนายนที่ติดลบถึง -4.0% ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการค้าในครึ่งปีหลัง เป็นสัญญาณปัจจัยลบที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

“ผมอยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง” นายวรวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.