ครบรอบ 10 ปี แห่งการพิทักษ์สายน้ำกับโครงการ “เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ” สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ สู่เป้าหมายคืนน้ำสะอาดกลับสู่ชุมชน โมเดลตัวอย่างของประเทศไทย ที่คลองขนมจีน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ประกาศความสำเร็จครบรอบ 10 ปี โครงการ “เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ” ในพื้นที่คลองขนมจีน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แบรนด์เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ ได้มุ่งมั่นในการดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางการฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ยั่งยืนอย่างครบวงจร 3 ด้าน ได้แก่ “เรียนรู้-ปกป้อง-ฟื้นฟู” จนทำให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจด้วยการคืนปริมาณและคุณภาพน้ำกลับสู่ชุมชนตามเป้าหมาย พร้อมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนคลองขนมจีน
ล่าสุด สามารถยกระดับโครงการเป็นพื้นที่นำร่องระดับประเทศ สำหรับการดำเนินงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (Other Effective area-based Conservation Measures: OECMs) สำหรับพื้นที่บนบกและแหล่งน้ำบนบกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
“นายไชยงค์ สกุลบริรักษ์” ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ จากแบรนด์เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเนสท์เล่ในการสร้างคุณค่าและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมไทย
โดยเนสท์เล่มีเป้าหมายใหญ่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ หรือ Net Zero 2050 ซึ่งมีแผนงานด้านการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ Water Stewardship เป็น 1 ใน 4 แผนงานหลักในการก้าวไปสู่ Net Zero
“เรามีความภูมิใจที่โครงการที่คลองขนมจีนแห่งนี้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เราได้ร่วมกันดูแลและฟื้นฟูคลองขนมจีนจนมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สร้างประโยชน์ให้กับชาวชุมชนคลองขนมจีน และเราจะยังคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นถัดไป”
โครงการ เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ ริเริ่มขึ้นจากความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจที่สร้างคุณค่าให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นขึ้นในปี 2558 และได้ขยายบทบาทเป็นโครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ ในปัจจุบัน
เพื่อส่งเสริมแนวทางการฟื้นฟูน้ำ 3 ด้าน ที่ยั่งยืนและครบวงจรเป็นรายแรก ได้แก่ เรียนรู้ ปกป้อง ฟื้นฟู โดยมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการนี้อย่างรอบด้าน
1. เรียนรู้ – ให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
เริ่มต้นจากโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ ในปี 2558 ซึ่งเป็นโครงการประกวดแผนงานเพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยโรงเรียนสาคลีวิทยาเป็นโรงเรียนที่ชนะการประกวด ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่อง และได้จัดทำศูนย์การเรียนรู้ ณ โรงเรียนสาคลีวิทยา เมื่อปี 2561 เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการถ่ายทอดความรู้ และส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำอย่างครบวงจร
เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของโครงการ
เนสท์เล่ได้ปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ โดยเพิ่มความรู้ในแง่มุมของการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
2. ปกป้อง – ลดและป้องกันไม่ให้มีขยะหลุดลอดลงสู่แหล่งน้ำ เนสท์เล่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการปกป้องแหล่งน้ำไม่ให้มีขยะหลุดลอดสู่แหล่งน้ำผ่านการจัดกิจกรรม ตลาดนัดขยะชุมชน โดยเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ ได้ร่วมมือกับวงษ์พาณิชย์ เปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ของชาวบ้าน
ที่ผ่านมาได้รวบรวมขยะรีไซเคิลเข้าสู่ระบบได้มากกว่า 16 ตัน
ล่าสุด ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของโครงการ ยังได้เปิดตัว “ธนาคารขยะ” นำร่องที่โรงเรียน
สาคลีวิทยาเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและสามารถสร้างรายได้ให้กับนักเรียนและชุมชน
3. ฟื้นฟู – ดูแลและปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้ระบบนิเวศ เนสท์เล่ให้ความสำคัญกับแนวทางการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เนสท์เล่รักษ์น้ำ คืนปลาสู่คลองขนมจีน
โดยจัดทำบ่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นหายาก เช่น ปลากระทิง ปลาหลด ปลาหมู ปลาแดง นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการปลูกพืชน้ำ เช่น กระจับ แพงพวยน้ำ บัวสาย ต้นเตยหอม และในโอกาสครบรอบ 10 ปี ยังได้ปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามจำนวน 100,000 ตัวสู่คลองขนมจีนเพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์
ตลอดระยะเวลาของโครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ เนสท์เล่ได้ดำเนินงานร่วมกับโรงเรียน ชาวบ้านชุมชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมชลประทาน กรมประมง และมูลนิธิ WWF ประเทศไทย รวมไปถึงวงษ์พาณิชย์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เพื่อดูแลและฟื้นฟูคลองขนมจีนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี
“ดร.วัชราภรณ์ ตันติพนาทิพย์” คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าได้เห็นพัฒนาการที่ดีในแง่มุมของความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณคลองขนมจีนตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการของเนสท์เล่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
โดยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนด้านการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิต การเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยเฉพาะกลุ่มหอยกาบและปลาน้ำจืดหลายชนิดที่เคยสูญหายไปจากคลองขนมจีนแต่ในปัจจุบันพบการแพร่กระจายและขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แสดงถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งภายในระบบนิเวศและความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลและความอุดมสมบูรณ์แก่คลองขนมจีนอย่างยั่งยืน
ปีแรกที่เนสท์เล่เริ่มโครงการ ได้นำร่องกับโรงเรียน สาคลีวิทยาก่อน และเริ่มขายสู่ชุมชน พร้อมการร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยเริ่มเก็บวิเคราะห์คุณภาพน้ำในคลองขนมจีน จำนวน 10 สถานี ตลอดความยาว 21 กิโลเมตร โดยจะมีกระบวนการทางการศึกษาแบบปีเว้นปี
การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพจะมีทั้งการสำรวจสัตว์หน้าดิน ปลาน้ำจืด และความหลากหลายทางชีวภาพของนก โดยมีการทำงานร่วมกับชุมชนว่าในแต่ละปีพบอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง และค่อย ๆ เพิ่มการศึกษาของกลุ่มผู้ใช้น้ำหรือคนในชุมชนในช่วง 2 รอบการสำรวจหลัง
เพื่อวิเคราะห์ว่าถ้าคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น ความต้องการและลักษณะของการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีการนำน้ำมาใช้มากขึ้นกว่าการใช้ทำนาข้าวอย่างเดียว เริ่มนำไปปลูกพืชสวน พืชไร่มากขึ้น และมีกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงปลาเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา คุณภ่าพน้ำดีขึ้น วิถีชีวิตจากการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ศึกษากำลังจะครอบคลุม 21 กิโลเมตรแล้ว
แต่ก่อนชาวบ้านไม่เชื่อว่าน้ำใคลองเสื่อมโทรม เพราะน้ำยังดูใส แต่ผลที่มหาวิทยาลัยลงไปศึกษาพบว่าแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตเลย จึงต้องสื่อสารกับชาวบ้านให้เข้าใจง่ายไม่เป็นเชิงวิชาการ จากการเก็บตัวอย่าง 10 สถานี รวมแล้วกว่า 120 ครั้ง พบเพียงหอยกาบแค่ตัวเดียว หอยขมชนิดที่นำมากินไม่ได้ และเปลือกหอยเชอรี่ที่ไม่มีตัว
ชาวบ้านจึงยอมรับว่าน้ำในคลองไม่เหมือนเดิม จึงเกิดการร่วมมือกันของเนสท์เล่ พันธมิตร และแกนนำชาวบ้าน เพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งสิ่งที่เห็นตรงกันคือปัญหาจากขยะ หลังจากนั้นทุกฝ่ายจึงมุ่งเป้าแก้ปัญหาขยะในนคลองเป็นอันดับแรก ส่วนมหาวิทยาลัยก็ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำและสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ
“ปัจจุบัน พบว่าคุณภาพน้ำดีขึ้นมาก และมีความหลากหลายทางชชีวภาพมากขึ้น จากการพบหอยกาบ 4 สายพันธุ์ กุ้งก้ามกราม ตลอดจนกลุ่มสัตว์หน้าดินที่เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร ทำให้กลุ่มปลาต่าง ๆ เริ่มมีจำนวนมากขึ้น มีการพบปลากระทิง ปลาบู่ ปลาหลด ตระกูลปลาเนื้ออ่อน ซึ่งเป็นทรัพยากรอาหาร นำมารับประทานได้ ขายได้ ตลอดจนเป็นปลาสวยงาม ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน”
นายไชยงค์ กล่าวว่า ด้วยการดำเนินงานอย่างครบวงจรของโครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ ส่งผลให้น้ำในคลองขนมจีนกลับมาสะอาด และมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น ชาวบ้านในชุมชนก็สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองในการทำการเกษตรทั้งประมงพื้นบ้าน และปลูกพืชผักในน้ำ เพื่อการบริโภคสร้างรายได้ และยังกลับมาใช้คลองเป็นเส้นทางสัญจรของชุมชน
ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นการฟื้นฟูคลองขนมจีนครบทุกมิติ เพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกับแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น การดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เนสท์เล่คาดว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการชดเชยน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติและชุมชน ในปริมาณเท่ากับที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจน้ำดื่ม 100% (100% Water Regeneration) ภายในสิ้นปี 2568 คิดเป็นปริมาณน้ำที่จะคืนสู่ธรรมชาติกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร นายไชยงค์ กล่าว
“นายศุภวัฒน์ คามีเยาน์” ผู้จัดการด้านความยั่งยืนธุรกิจน้ำดื่มเนสท์เล่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า สำหรับการคืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชน เนสท์เล่ใช้หลักเกณฑ์ Water Based Accounting ซึ่งต้องสัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่ใช้จากโรงงานด้วย โดยผ่านครึ่งปีแรกของปี 2568 เนสท์เล่มีปริมาณใช้น้ำเกินกว่า 50% แต่มีการคืนน้ำสู่ธรรมชาตินำหน้าไปกว่า 65% แล้ว
ในเมืองไทย เนสท์เล่ มี 2 โรงงาน ที่จังหวัดอยุธยาและสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีโปรเจ็กต์ในลักษณะเดียวกันที่ดำเนินมาถึง 4 ปีแล้ว
“ความร่วมมือจากชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด พร้อมกับภาคเอกชน ภาครัฐ เป็นกลไกที่เข้ามาขับเคลื่อน ยืนหยัดที่จะผลักดันอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีคำถามว่าจะหยุดหรืถอยหลัง สิ่งที่ทำให้ไปต่อได้คือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ปลายทาง เรามีพันธุ์ปลาที่เพิ่มขึ้น พบแมลงปอ หิ่งห้อยที่กลับมา บทพิสูจน์คือจำนวนยอในคลอง วันที่เริ่มมีเพียง 2 ยอ แต่วันนี้มีกว่า 30 ยอ เป็นบทพิสูจน์ว่าชุมชนเห็นระโยชน์จากการลงมือทำ และจะเป็นวงจรที่ผลักดันต่อไป”
ที่สำคัญโครงการนี้ได้ถูกรับเลือกเป็นหนึ่งใน โครงการนำร่อง OECMs แม้คลองจะดูเล็ก แต่เมื่อยกระดับไปถึง OECMs ที่เป็นการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพระดับสากล แน่นอนว่าคลองอื่น ๆ ในประเทศไทยจะมาศึกษาดูงานที่นี่
เพราะองค์ประกอบของโครงการนี้มีครบ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน โดยจะทำให้ทั้งโลกให้ความสนใจในเรื่องแหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้มีมากในปัจจุบัน นายศุภวัฒน์ กล่าว