BPP เผย 5 เทรนด์อนาคตพลังงาน สร้างความมั่นคง-ลด CO₂
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงาน เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงอื่นๆ (Electrification) และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digitalization) ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยี ขณะเดียวกันความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกภาคส่วนเร่งสร้างระบบพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงาน ที่เพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น พร้อมเดินหน้าสู่ความมั่นคงด้านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจให้สอดรับกับภูมิทัศน์พลังงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป (Energy Landscape Transformation) บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ในฐานะผู้ผลิตพลังงานระดับสากล ได้รวบรวม 5 เทรนด์พลังงานสำคัญที่องค์กรธุรกิจควรจับตา ดังนี้
1.ความมั่นคงทางพลังงาน ปัจจัยสำคัญผลักดันการลงทุนทั่วโลก
รายงานล่าสุดจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า “ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security)” กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้การลงทุนด้านพลังงานทั่วโลกในปี 2025 พุ่งสูงถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นการลงทุนในพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน รวมมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และแบตเตอรี่ รวมมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและความกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงาน ภาครัฐและภาคธุรกิจทั่วโลกจึงเร่งวางแผนรับมือความเสี่ยงรอบด้านผ่านการลงทุนที่สมดุลทั้งในพลังงานดั้งเดิมและพลังงานสะอาดเพื่อรักษาความต่อเนื่องในการใช้ไฟฟ้า สร้างความมั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานภายในประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมเสริมความมั่นคงทางธุรกิจและเศรษฐกิจระดับประเทศในระยะยาว
2.เทคโนโลยี Co-firing ทางเลือกสู่เป้าหมายลด CO₂
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนยังคงเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักที่ช่วยให้เรามีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง รองรับการใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างไม่สะดุด เทคโนโลยี Co-firing คือ การนำเชื้อเพลิงทางเลือก เช่น ชีวมวล (Biomass), ไฮโดรเจน (Hydrogen) และแอมโมเนีย (Ammonia) มาใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงหลักอย่างฟอสซิลในโรงไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อย CO₂ โดยหลายประเทศให้ความสนใจและเริ่มทดลองใช้งานจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จีน ได้กำหนดให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผ่านการปรับปรุงหรือสร้างใหม่ต้องสามารถผสมชีวมวลหรือแอมโมเนียไม่น้อยกว่า 10% ภายในปี 2027 เพื่อบรรลุเป้าหมายลด CO₂ ลง 50% เมื่อเทียบจากระดับการปล่อย CO₂ ในปี 2023 ตามแผนปฏิบัติการ “Low-Carbon Transformation of Coal Power Plants (2024–2027)” ด้านไทย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2024) ได้มีการวางแผนใช้ไฮโดรเจนเริ่มต้นที่ 5% ผสมกับก๊าซธรรมชาตินำร่องใช้ในโรงไฟฟ้าในช่วงปี 2030-2037 ซึ่งเทคโนโลยี Co-firing กำลังเปลี่ยนโฉมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแบบเดิมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
3.Data Centers โตดันดีมานด์ไฟฟ้าพุ่ง พลังงานหมุนเวียน หนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์
พลังงานหมุนเวียนเติบโตต่อเนื่องเพื่อตอบรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจดิจิทัลและศูนย์ข้อมูล (Data Centers) โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าภายในปี 2030 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากศูนย์ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เป็นประมาณ 945 เทราวัตต์-ชั่วโมง โดยกลุ่มยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น Amazon Web Services ได้ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในศูนย์ข้อมูล ภายในปี 2025 ขณะที่ Microsoft และ Google Cloud ได้ขยายความมุ่งมั่นไปสู่การใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอน (Carbon-Free Energy หรือ CFE) ตลอด 24 ชั่วโมง ภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม พลังงานความร้อนยังคงมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง รายงานจาก Precedence Research คาดว่า ตลาดโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทั่วโลกจะมีมูลค่า 1.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 และจะเติบโตถึง 2.13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2034 นอกจากนี้ เทคโนโลยี ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage: BESS) กำลังมีบทบาทสำคัญในการสำรองและจ่ายไฟฟ้ากลับสู่ระบบในช่วงที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้บริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลาด BESS ในเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 14.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2033 สะท้อนว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานยังคงต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างพลังงานความร้อน พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเสริมความมั่นคงและความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า
4.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) เทคโนโลยีพลังงานสะอาด
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR คือ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใช้ความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิชชัน (Nuclear Fission) ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีจุดเด่นสำคัญคือ การบริหารจัดการวัสดุกัมมันตรังสีใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกแบบที่ส่งเสริมความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ด้วยระบบระบายความร้อนที่ช่วยรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ถูกออกแบบให้เป็นโมดูลขนาดเล็กช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งจาก 5-6 ปี เหลือเพียง 3-4 ปี โดยมีกำลังผลิตสูงสุดถึง 300 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องโดยไม่ปล่อย CO₂ ปัจจุบันหลายประเทศอยู่ระหว่างพัฒนาและทดลองการใช้งาน เช่น จีน มีโครงการ ACP100 หรือ Linglong One กำลังการผลิตประมาณ 125 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่มณฑลไห่หนาน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2026 ขณะที่ในสหรัฐฯ ได้อนุมัติแบบเครื่องปฏิกรณ์ SMR ขนาด 77 เมกะวัตต์ของ NuScale Power สำหรับไทยในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP2024) ได้มีการบรรจุแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 2 แห่ง ขนาดกำลังผลิตแห่งละ 300 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต เทคโนโลยี SMR จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าจับตามองในการเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว
5.Grid Modernization อัปเกรดโครงข่ายไฟฟ้าให้ชาญฉลาดและทันสมัยยิ่งขึ้น
Grid Modernization คือ การปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้ชาญฉลาด ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรองรับแหล่งพลังงานที่หลากหลาย เช่น พลังงานหมุนเวียน และตอบโจทย์การใช้พลังงานในอนาคต โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น ระบบควบคุมอัตโนมัติ การวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดการโหลดไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ช่วยลดการปล่อย CO₂ และรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าโดยรวม ในเอเชียแปซิฟิก ตลาด Grid Modernization คาดว่าจะเติบโตจาก 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 เป็นกว่า 51.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2032 ขณะที่สหรัฐฯ ดำเนินโครงการ Grid Resilience and Innovation Partnerships (GRIP) มูลค่า 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงข่ายไฟฟ้าในการรับมือกับสภาพอากาศที่ผันผวน ส่วนจีนมีการประกาศแผนลงทุนในระบบโครงข่ายไฟฟ้ามูลค่าสูงถึง 800 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 เพื่อรองรับความต้องการไฟที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุน
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
อนาคตพลังงานกำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างระบบพลังงานที่มั่นคง ยืดหยุ่น และลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม แนวโน้มนี้ไม่ได้เป็นเพียงนโยบาย แต่เกิดขึ้นจริงในภาคธุรกิจทั่วโลก ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานใน 8 ประเทศทั่วโลก BPP มุ่งมั่นผลิตและพัฒนาพลังงานคุณภาพสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานและการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกประเทศที่ดำเนินธุรกิจ