เล่าเป็นฉาก! ปฏิบัติการ 1,326 วัน เบื้องลึกสัมพันธ์การทูตไทย–จีน เปิดวาทะ เหมา เจ๋อตุง คุยอะไรกับ คึกฤทธิ์ 
ข่าวสด July 11, 2025 05:43 PM

เล่าเป็นฉาก! ปฏิบัติการ 1,326 วัน เบื้องลึกสัมพันธ์การทูตไทย–จีน เปิดวาทะ เหมา เจ๋อตุง คุยอะไรกับ คึกฤทธิ์

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (อาคาร West ชั้น 2) พระโขนง กรุงเทพฯ ในวาระพิเศษของการครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน เครือมติชนเปิดม่านเทศกาลวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ “Thai–Chinese Golden Fest 2025 เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย–จีน” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11–13 กรกฎาคม เวลา 10.00–18.00 น. (อ่าน บิ๊กเนม ปวศ. จ้องนิทรรศการ ‘จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน’ จัดเต็มทุกมิติ ขุดภาพนสพ. ปี 18 ฉายนาทีลงนามเปิดสัมพันธ์)

โดยเมื่อเวลา 11.00 น. มีการนำชม ‘นิทรรศการ: จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน’ โดย นายสมชาย แซ่จิว นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน-ไทย และ นายจุมพฏ สายหยุด ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) โดยมีประชาชนรับฟังอย่างคึกคัก รวมถึงบุคคลในแวดวงวิชาการ และผู้บริหารในเครือมติชน นำโดย นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะ

ในตอนหนึ่ง นายจุมพฏ กล่าวว่า ความตั้งใจในนิทรรศการครั้งนี้ ต้องการนำประวัติศาสตร์ มาร้อยเรียงเป็นความรู้สึก ให้ผูกพันกับคนยุคปัจจุบัน เพื่อสื่อสารกับประชาชนส่วนใหญ่ให้ทราบถึงสำหรับปฎิบัติการ 1,326 วันในการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน เมื่อ พ.ศ.2518

“ตอนนั้นมี2เหตุการณ์ สำคัญของโลก จีน-สหรัฐ ได้จับมือกัน และสงครามเวียดนามกำลังยุติลง แต่สงครามเวียดนามเราเป็นฐานทัพอเมริกาที่ไปบอมบ์เวียดนามเหนือ แปลว่าเราเป็นศัตรูของจีน (คอมมิวนิสต์) ด้วย ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์กับจีนไต้หวันมากกว่า

วันที่ 25 ตุลาคม 2514 ประชุมยูเอ็นมีมติสำคัญว่า ใครจะเป็นตัวแทนของจีนในสหประชาชาติ ซึ่งจีนไต้หวันจะชนะตลอด เมื่อภายหลังประเทศเกิดใหม่ขึ้นเยอะขึ้น เเนวโน้มตอนนั้นคาดว่าจีนไต้หวันจะชนะแล้ว

นายถนัด คอมันตร์ เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในช่วงเวลานั้น ได้ขออนุมัติจากรัฐบาล

ในการลงมติครั้งนี้ฝ่ายไทยซึ่งลงให้ไต้หวันตลอด ขอเป็นการลงมติตามเสียงส่วนใหญ่ได้หรือไม่ แต่ครม.ไม่อนุมัติ จึงไปที่ ยูเอ็นต่อ

จากนั้นมีการลงมติ 2 ครั้ง 1. ไต้หวันจะเป็นตัวจีนในยูเอ็นหรือไม่ ตามคาด คือแพ้ ไต้หวัน ไม่ได้เป็นสมาชิกยูเอ็นต่อไป 2. ตกลงให้สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นตัวแทนจีน ในยูเอ็นต่อไปหรือไม่

นายถนัด คอมันตร์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทน สั่งนายอานันท์ ปันยารชุน ขณะนั้นเป็นผู้แทนถาวรไทย ให้งดออกเสียงเพื่อแสดงสัญญาณว่า เราไม่หักหลังไต้หวัน แต่เราไม่เป็นศัตรูกับจีน

จากนั้นก็มีคำสั่งจากภายในของนายถนัด เข้าไปที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศว่า ต่อไปนี้ สถานทูตไทย ถ้ามีทูตจีนให้เข้าไปคุย ให้เป็นการติดต่อทางสังคม ไม่ต้องเดินหนีเมือนแต่ก่อน“ นายจุมพฏ กล่าว

จากนั้น นายจุมพฏ กล่าวถึงคำว่า ‘การทูตปิงปอง’ ว่า เป็นการสร้างสัมพันธ์ โดยวันดีคืนดีจีนส่งจดหมายเชิญไทยร่วมแข่งขัน ‘เทเบิลเทนนิส’ ซึ่งไทยตอนแรกไม่ไป ภายหลังจึงไปเพื่อหาทางพูดคุยรัฐบาลจีน ผู้นำระดับสูง นับว่าเป็นการติดต่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งแรก

ด้านนายสมชาย กล่าวเสริมว่า ไทยมีความพยายามติดต่อจีนเรื่อยๆ ลับๆ (ใต้ดิน) อยู่แล้ว อีกหนึ่งสิ่ง เมื่อ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ เยือนจีนอย่างเป็นทางการ ลมเริ่มเปลี่ยนทิศ ผู้นำรัฐบาลไทย เริ่มมองเห็นว่า ลมเปลี่ยนทิศ จะมองตะวันตกไม่ได้แล้ว ต้องหันมองตะวันออก จึงเกิดความสัมพันธ์ต่างๆ ขึ้นมา

จากนั้น นายจุมพฏ กล่าวว่า 14 ตุลาคม 2516 เทรนด์จีนเริ่มมา มี ‘นิทรรศการจีนแดง’ ครั้งหนึ่งในเอกสารราชการเรียกประเทศจีนว่า เป็น ‘ประเทศจีนคอมมิวนิสต์’ จนกระทั่งหลัง 14 ตุลาฯ เปลี่ยนประกาศฉบับหนึ่งที่เราไปซื้อน้ำมันจากจีน จึงปรากฏคำว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรก ในภาษาราชการ

ด้านนายสมชาย เล่าถึงตอนเกิดวิกฤตน้ำมันว่า พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พยายามหาซื้อน้ำมันที่อื่นมาสำรอง แต่ไม่เกิดผล ปรากฎว่าไปซื้อน้ำมันที่จีน แต่ไทยยังมีกฎหมายห้ามซื้อขายกันกับจีนแดง พลเอกชาติชาย ก็ไปซื้อมา 30,000 ตัน ในราคามิตรภาพ ต่ำกว่าตลาด3เท่าตัว

“ปี 2518 ปีสัมพันธภาพไทย-จีน พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เพิ่งมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม แต่ก่อนหน้าเป็นรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช พูดว่า ถ้าคนจีนมายืนฉี่ข้างประเทศเรา 8 ร้อยล้านคน ประเทศเราก็น้ำท่วมแน่ แล้วเราจะเป็นศัตรูกับจีนทำไม สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ส่งสัญญาณอย่างหนึ่งว่า เราหันมาทางจีนแล้ว” นายสมชาย กล่าว

นายจุมพฏ กล่าวเสริมว่า เมื่อ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ขึ้นมาเป็นรัฐบาล 6 มีนาคม มีนโยบายชัดเจนว่า จะสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน พลเอก ชาติชาย ทำหนังสือถึงนายกฯ คึกฤทธิ์ ว่าสถานการณ์อินโดจีนไม่น่าไว้วางใจ และกระทบความมั่นคงของไทยอย่างมาก ความหมายคือว่า ตอนนั้นคุณภาพกระทรวงต่างประเทศดีมาก มีระบบหน่วยข่าวกรองเป็นของตัวเองที่ไม่พึ่งสหรัฐ

นายกฯ ได้เรียกประชุมทั้งหมด เกิดวิฤตครั้งแรกใน ประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมีพรมแดนติดกับประเทศคอมมิวนิสต์ ในกระทรวงต่างประเทศมีภาพยืนยันว่ามีขบวนรถถังเตรียมลุยเข้ามาได้

“ม.รว. คึกฤทธิ์ ถามทหารว่า ถ้าเขามาจริงจะยันได้กี่วัน พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตอบว่า 3 วัน ม.รว. คึกฤทธิ์ บอกว่า 3 วัน ยิงปืนเรียกเพื่อนไม่ทันแล้ว เราต้องหาเพื่อนใหม่ ชาติชายพาผมไปปักกิ่งเลยดีกว่า” นายจุมพฏ กล่าว

นายสมชาย เล่าเสริมว่า ตอนที่คิดว่าจะไปปักกิ่งดีกว่า เกิดกรณีเรือรบอเมริกา เข้าไปน่านน้ำกัมพูชา ปรากฎกัมพูชายึดเรือไว้ ปรากฎอเมริกาส่งทหารไปยึดเรือคืน เกิดการรบกัน

“ปรากฎว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถามสถานทูตสหรัฐว่า ไปได้อย่างไร ผ่านที่ไหน คือผ่านน่านน้ำไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถามต่อว่า ใครอนุญาตให้ไป ทางสหรัฐก็บอกว่า ขอทหารแล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ บอกว่า ฉันเป็นรัฐบาลพลเรือน ทำไมไม่ขอฉัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงใช้วิธีการทางการทูต จึงเรียก นายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาปรึกษาข้อราชการ พลเอกชาติชาย จึงให้ นายอานันท์ เจรจาลับกับทางจีน นำมาสู่การพูดคุย” นายสมชายกล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า 20 มิถุนายน จีนส่งจดหมายมาที่ไทย เชิญ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้นไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกฯ คึกฤทธิ์ ก็ไปจริง บินวันที่ 29 มิถุนายน ไปฮ่องกงก่อน วันต่อมาจึงบินเข้าปักกิ่ง พร้อมห้ามถ่ายรูปเมื่อเข้าน่านฟ้าจีน ซึ่งมีการเลี้ยงต้อนรับเป็นอย่างดี โดย เติ้ง เสี่ยวผิง

“ตอนพบประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตุง มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นายชาติชาย นายอานันท์ และนายประกายเพชร (เลขา) ประโยคสำคัญที่ประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตุง บอก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คือ คอมมิวนิสต์ไม่ต้องกลัว 1.อย่าด่า 2.อย่าเอาทหารไปปราบ 3.อย่าฆ่า ให้ทำความอยู่ดีมีสุขให้ดีๆ ความหมายคือ เรื่องของคุณ ไม่เกี่ยวกับเรา นี่ก็เป็นไฮไลต์ของเหตุการณ์ ในวันสถาปนาทางการทูตไทย-จีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518” นายสมชาย ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ตั้งแต่วันที่ 11–13 กรกฎาคม 2568 ณ True Digital Park อาคาร West ชั้น 2 กรุงเทพฯ ลงสถานี BTS สถานีปุณณวิถี มีพื้นที่จอดรถรองรับภายในอาคาร เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.