“ต้อหิน” (Glaucoma) โรคที่ทั่วโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสาเหตุหลักของการตาบอดถาวร และที่น่ากังวลคือ คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงนี้
ต้อหินคืออะไร?
ต้อหินเกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทตา ซึ่งมักสัมพันธ์กับภาวะความดันภายในลูกตาที่สูงเกินไป หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ความดันตาที่สะสมจะค่อยๆ ทำลายเส้นประสาทตา จนกระทั่งนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นที่ไม่สามารถกู้คืนได้อีก
สิ่งที่ทำให้ต้อหินน่ากลัว คือ “อาการเริ่มแรกแทบไม่มี” โดยเฉพาะในกรณีของ “ต้อหินมุมเปิด” ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด ผู้ป่วยอาจใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่รู้ตัวเลยว่ามุมมองของตนกำลังค่อยๆ แคบลงเรื่อยๆ จนเข้าสู่ภาวะการมองเห็นที่ลดลงอย่างถาวร
ชนิดของต้อหิน เพื่อระวังอย่างถูกต้อง
ต้อหินมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma)
เกิดจากการระบายน้ำภายในลูกตาที่ติดขัด แม้ช่องระบายจะเปิดอยู่ ส่งผลให้ความดันตาเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการชัดเจน กระทั่งผู้ป่วยเริ่มมองเห็นแคบลง และหากไม่รักษาอาจตาบอดได้
ต้อหินมุมปิด (Angle-Closure Glaucoma)
เกิดจากมุมระบายในลูกตาถูกปิด น้ำในตาจึงระบายออกไม่ได้ ความดันตาพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว คลื่นไส้ อาเจียน และเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที
ต้อหินชนิดความดันตาปกติ (Normal-Tension Glaucoma)
แม้ค่าความดันตาอยู่ในระดับปกติ แต่เส้นประสาทตากลับถูกทำลาย สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น เช่น ภาวะหลอดเลือดผิดปกติหรือการไหลเวียนโลหิตที่ไม่ดี
ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma)
เกิดจากสาเหตุภายนอก เช่น อาการอักเสบ อุบัติเหตุที่ตา เบาหวาน หรือการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ส่งผลให้ความดันตาเพิ่มสูงและทำลายเส้นประสาทตา
ต้อหินในเด็ก (Congenital Glaucoma)
พบได้ตั้งแต่ทารกหรือเด็กเล็ก เกิดจากความผิดปกติของระบบระบายน้ำภายในลูกตา อาการสังเกตได้ เช่น ดวงตาโตผิดปกติ น้ำตาไหลมาก และกระจกตาขุ่น ต้องวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน
การวินิจฉัยโรคต้อหิน
การตรวจวินิจฉัยต้องดำเนินการโดยจักษุแพทย์ โดยจะมีการวัดความดันลูกตา ตรวจขั้วประสาทตา และใช้เครื่องมือเฉพาะเพื่อดูโครงสร้างภายในดวงตา อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจลานสายตา ตรวจมุมระบายน้ำในตา เพื่อระบุชนิดของต้อหินอย่างแม่นยำ
ทางเลือกในการรักษาต้อหิน
แม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้ลุกลามและรักษาการมองเห็นที่เหลืออยู่ไว้ให้ได้นานที่สุด การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค ได้แก่:
การใช้ยาหยอดตา
เพื่อลดการสร้างน้ำในลูกตาหรือช่วยให้น้ำระบายออกได้ดีขึ้น ต้องใช้ต่อเนื่องตลอดชีวิต
การใช้เลเซอร์
สำหรับกรณีต้อหินมุมปิด จะใช้เลเซอร์ LPI เจาะรูบนม่านตาเพื่อช่วยระบายน้ำภายในตา
ส่วนต้อหินมุมเปิด ใช้เลเซอร์ SLT ยิงกระตุ้นมุมระบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
การผ่าตัด
หากยาหรือเลเซอร์ไม่ได้ผล อาจพิจารณาการผ่าตัด เช่น
ป้องกันได้ด้วยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ
เนื่องจากต้อหินมักไม่แสดงอาการในระยะแรก การตรวจตาเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรืออายุมากกว่า 35 ปีหากมีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม
ต้อหินอาจเป็น “ภัยเงียบ” ที่มองไม่เห็น แต่หากปล่อยไว้อาจไม่มีโอกาส “มองเห็น” อีกเลย การตระหนักรู้และตรวจตาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาดวงตาคู่เดียวของเราให้คงอยู่ตลอดไป.
ขอบคุณ : โรงพยาบาลเวชธานี