'พิชัย' สั่งแบงก์รัฐผุดซอฟท์โลน2แสนล้าน อุ้มSMEอ่วมภาษีสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอเปิดตลาดเพิ่มเป็น69%
GH News July 14, 2025 02:12 PM

‘พิชัย’ สั่งแบงก์รัฐเตรียม 2 แสนล้านบาท ผุดซอฟท์โลนอุ้มกลุ่มเอสเอ็มอีอ่วมพิษภาษีสหรัฐฯ พร้อมยื่นข้อเสนอเปิดตลาดเพิ่มเป็น 69% จากปัจจุบัน 63-64% ชูสินค้านำเข้า 0% ‘ปลานิล ลำไย รถยนต์พวงมาลัยซ้าย’ หวังสร้างสมดุลการค้า ยันไม่ได้เปิดโต๊ะเจรจาช้าเกินไป มองยังต้องหารือต่อเนื่อง ไม่จบในทีเดียว

14 ก.ค. 2568 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ยืนยันว่าการเจรจาเรื่องภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ นั้น ประเทศไทยเจรจาอยู่บนหลักการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เน้นการสร้างความสมดุลทางการค้า และสามารถปฏิบัติได้ในระยะยาว ส่วนผลลัพธ์ในการเจรจาครั้งนี้จะเป็นอย่างไร จะจบหรือภายในวันที่ 1 ส.ค. 2568 หรือไม่ หรืออาจจะต้องต่อเนื่องต่อไป ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะหลายประเทศที่มีการเจรจาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะจบ หรือยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรเหมือนกัน

ส่วนผลตอบรับจากการยื่นข้อเสนอในการเจรจากับสหรัฐฯ ล่าสุดเป็นอย่างไรนั้น นายพิชัย ระบุว่า ขอเก็บไว้ก่อน ขณะนี้ยังมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งคิดว่ายังต้องหารือกันต่อเนื่องต่อไป ยังไม่จบเลยในทีเดียว

ทั้งนี้ ยืนยันว่าไทยได้ได้มีการเจรจากับสหรัฐฯ ช้าเกินไป แต่มีปัจจัยหรือเงื่อนไขบางอย่างที่ต้องทบทวนอย่างรอบคอบ เพื่อเก็บและส่งข้อมูลมาวิเคราะห์ และที่ผ่านมาไทยได้มีการหารือกับสหรัฐฯ ในหลายระดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเจรจาผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งการเห็นผลการเจรจรของประเทศอื่นที่เข้าไปเจรจาก่อนไทย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ไทยสามารถมองออกว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไร ซึ่งหลัก ๆ คือ ต้องการให้เกิดความสมดุลทางการค้า ดังนั้นตรงนี้ทำให้ไทยยังมีเวลาคิิด และทบทวนเกี่ยวกับข้อเสนอที่ได้ส่งไป

สำหรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ภายใต้กรอบ Preferential Trade Agreement (PTA) ไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการทบทวนหลายรอบ โดยไทยพร้อมขยายการเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 69% จากปัจจุบันมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมายังไทย อยู่ที่ 63-64% โดยการเปิดตลาดครั้งนี้จะครอบคลุมรายการสินค้าในอัตรา 0% ที่ไทยไม่เคยเปิดให้สหรัฐฯ มาก่อน เช่น ปลานิล ลำไย และรถยนต์พวงมาลัยซ้าย ซึ่งแม้ว่าสหรัฐฯ อาจจะไม่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าดังกล่าว แต่ก็เปิดให้สหรัฐฯ นำเข้าได้ เพราะมองว่าไม่น่าจะกระทบกับผู้ผลิตในประเทศแต่อย่างใด ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เองก็มีตลาดหลักอื่นอยู่แล้ว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในเรื่องการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นอีกนโยบายที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาษีนำเข้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งวันนี้มองว่ากติกาการค้าโลกอาจจะต้องเปลี่ยนไป สินค้าที่มี local content สูงอาจจะไม่ได้โดนภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ แค่ 40% อีกต่อไป แต่อาจจะกลายเป็น 60-80% ดังนั้นอาจจะต้องกลับมานิยามคำว่า local content กันใหม่ ซึ่งอาจจะหมายถึงต้นทุนการผลิตของไทย บวกกับต้นทุนของสหรัฐ และบวกกับต้นทุนของส่วนที่เป็นพันธมิตร

“วันนี้เราไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ต้องปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่ม local content ในห่วงโซ่การผลิตให้สูงขึ้นถึง 60-70% ให้ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันภาษีได้อย่างยั่งยืน แต่ก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าจะโดนภาษีจากสหรัฐฯ ในส่วนของ local content เท่าไหร่ แต่เดาไปก่อนว่าเขาคงขอเยอะ แต่การจะปรับ local content ทันที เป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลา บางอุตสาหกรรมใช้เวลา 5-10 ปี กว่าจะปรับ local content จาก 5% มาเป็น 50%” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่า โจทย์สำคัญของไทยในขณะนี้ คือ ต้องดึงการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้น แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องสหรัฐฯ เข้ามา เพราะการลงทุนถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากเครื่องชี้เศรษฐกิจระบุว่าการลงทุนต่ำ เศรษฐกิจของประเทศก็จะดึงไม่ขึ้น ดังนั้นวันนี้มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งทำ โดยเฉพาะความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก สะท้อนจากการปรับงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาท มาเน้นในโครงการโครงสร้างพื้นฐานระยะสั้น เพื่อเชื่อมโยงไปถึงโครงการในระยะกลางและยาว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในระหว่างนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งเตรียมมาตรการในการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อที่รัฐบาลจะได้เตรียมมาตรการทางการเงินในการให้ความช่วยเหลืออย่างถูกต้องต่อไป

“ตอนนี้กลุ่มอุตสาหกรรมกำลังทยอยส่งการบ้านมาเรื่อย ๆ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องนำมาพิจารณากันต่อว่าเขาต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง ซึ่งตรงนี้จะทำให้เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร หน้าที่ของเราก็มีเพียงแต่ว่าต้องมาดูว่าจะต้องแก้อะไรบ้าง นอกเหนือจากเรื่อง tariffs และมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยอาจจะมีบางเงื่อนไข หรือบางเรื่องที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ เช่น อัตราภาษีบางเรื่อง มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ยาหวาน แต่เป็นยาขมที่ทุกประเทศต้องเจอทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องเร่งทำให้เกิดความเข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยการตัดสินใจด้วยการยึดประเทศเป็นหลัก และต้องเข้าใจว่าไม่มีอะไรได้มา 100% อาจจะต้องเสียไปบ้าง” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นได้สั่งการให้สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เตรียมวงเงินซอฟท์โลน 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายในเรื่องสภาพคล่อง การลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่าน หรือการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือในช่วงสุญญากาศ ส่วนบริษัทขนาดใหญ่นั้น เบื้องต้นธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลว่าต้องการความช่วยเหลือขนาดไหน และด้านใดบ้าง ซึ่งหากเกินกว่าที่ธนาคารพาณิชย์จะสามารถรองรับได้ ก็ให้เสนอมาว่าภาครัฐจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องใดได้บ้าง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.