หลายครั้ง...สิ่งที่เคยถูกมองว่าไร้ค่า อาจสร้างรายได้แบบไม่คาดคิดในอนาคต เมื่อเราเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิกฤตของกระแสสังคมเป็นโอกาส อย่างเช่น ปลาหมอคางดำ ที่ถูกมองว่าเป็นผู้รุกรานแห่งสายน้ำ ขยายพันธุ์ไว ทำลายความสมดุลในธรรมชาติ วันนี้ปลาถูกจับต่อเนื่องจนกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับน้ำปลาแท้ น้ำพริกพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพ ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน ทุกปัญหาหากได้รับการจัดการอย่างสร้างสรรค์ ปัญหาก็จะกลายเป็นคำตอบแนะนวัตกรรมของการพัฒนา
หากพิจารณาปลาหมอคางดำด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูง ต้นทุนต่ำ และแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติจำนวนมาก ปลาหมอคางดำจะกลายเป็นจุดตั้งต้นของโมเดล “เศรษฐกิจหมุนเวียนชุมชน” ที่สามารถต่อยอดได้จริง ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์อาหารและอาชีพทางเลือกในท้องถิ่น
หนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาปลาหมอคางดำที่เป็นรูปธรรม ผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “หับเผย” และ “ใบโพธิ์” ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้ว สำหรับ หับเผย เป็นน้ำปลาแท้ 100% หมักด้วยมือของผู้ต้องขังและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในจังหวัดริมน้ำอย่าง สมุทรสาครสมุทรสงคราม สมุทรปราการ และเพชรบุรี ด้วยกระบวนการหมักนานกว่า 12 เดือน ตามสูตรพื้นบ้าน รสกลมกล่อม กลิ่นหอมเฉพาะตัว ไม่ต่างจากน้ำปลาระดับพรีเมียม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตรวจรับรองมาตรฐานอาหารก่อนวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารตรา “ใบโพธิ์” เป็นความภาคภูมิใจของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำตำบลโพพระ จากจังหวัดเพชรบุรี เป็นการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพที่โดดเด่นด้วยความหลากหลาย อาทิ ปลาแดดเดียว น้ำพริกปลาหมอฯ แจ่วบอง และน้ำปลาร้า ที่ใช้ปลาหมอคางดำเป็นวัตถุดิบหลัก ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับมาตรฐานความสะอาดที่ทันสมัย
วันนี้ ทั้งสองแบรนด์กำลังขยายตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และชื่นชอบอาหารพื้นถิ่นคุณภาพสูง สถานการณ์พลิกจากปลาที่ไม่มีใครต้องการ กลายเป็นปลาที่ใครก็ถามหา สร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับชุมชนที่เป็นแหล่งผลิต
ผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำไม่ได้มีเพียงแค่น้ำปลาและน้ำพริก หากยังรวมถึงการพัฒนาในหลายรูปแบบ เช่น ปลาร้าแดดเดียว, ปลาฟู, ปลาแห้ง, ลูกชิ้น, ไส้อั่ว, ห่อหมกปลา, น้ำปลาร้าต้มสุกปลอดภัย, ผงแคลเซียมจากก้างปลา, ผลิตภัณฑ์เกษตรชีวภาพ และปลาป่น ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงศักยภาพของการแปรรูปที่ไม่เพียงแต่เพิ่มมูลค่า หากยังลดปริมาณปลาในแหล่งน้ำ ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศ และสร้างอาชีพให้กับครัวเรือน
ความสำเร็จนี้เป็นผลจากความร่วมมือของ 4 ภาคส่วนหลัก คือ
• กรมประมง : ถ่ายทอดองค์ความรู้ ควบคุมประชากรปลา และสนับสนุนการจับ
• กรมราชทัณฑ์ : เปิดพื้นที่ฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขังใน 4 จังหวัด
• ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน : เปิดรับความรู้และโอกาสใหม่ ทดลอง แปรรูปและพัฒนาแบรนด์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น
• ภาคเอกชน : ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบแบรนด์ และช่วยกระจายสู่ตลาด
นอกจากนี้ หากมองข้ามช็อตการพัฒนาปลาหมอคางดำให้เป็นโปรตีนแห่งอนาคต รองรับเทรนด์สุขภาพที่กำลังเติบโตในตลาดโลก ปลาชนิดนี้มีศักยภาพในการพัฒนาเพิ่มในหลายรูปแบบ เช่น ซุปปลาแคลเซียมสูง คอลลาเจนจากเกล็ดปลา หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามแนวธรรมชาติ ล้วนคือโอกาสทองที่รอการพัฒนาในอนาคต
โมเดล “หับเผย–ใบโพธิ์” คือ ต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนจากฐานราก มีคุณค่าและคู่ควรได้รับการยกย่อง เพราะชุมชนไม่หยุดอยู่กับรอความช่วยเหลือเข้าไปหา แต่กลับทดลองอย่างสร้างสรรค์ เปลี่ยนวิกฤตเป็นความหวัง รักษาบ้านเกิดของตัวเอง ด้วยลงแขกจับปลาในคลอง และสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาได้อย่างน่าชื่นชม
ท้ายที่สุดประโยชน์สูงสุด คือ การร่วมกันลดปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อเนื่อง และควบคุมปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้ เปลี่ยนปลาที่เคยไร้ราคาและถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้ร้าย และจากปลาที่เคยทำลายสมดุล กลายเป็นจุดตั้งต้นของเศรษฐกิจใหม่ กลายเป็นแบรนด์ของบ้านเกิด เมื่อเรามองมุมใหม่ “ปลาหมอคางดำ” จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่คืออนาคตใหม่ของคนคิดบวก
โดย : สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ