ชายช่วยทำ CPR ผู้หญิงหมดสติ กลับถูกคนในโซเชียลกล่าวหาว่าลวนลาม เฉลยทีหลังพลเมืองดีคือใคร? ตัวจริงไม่ธรรมดา!
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2025 บนถนนในเมืองเหิงหยาง มณฑลหูหนาน เกิดเหตุหญิงสาวคนหนึ่งล้มลงหมดสติอย่างกะทันหัน สัญญาณชีพแทบไม่มี ขณะที่เวลานั้นมีค่าทุกวินาที ชายคนหนึ่งที่ขี่รถผ่านมา รีบหยุดรถและทำการปั๊มหัวใจ (CPR) ช่วยชีวิตทันที โดยมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งเข้าร่วมช่วยด้วย
พยานในที่เกิดเหตุยืนยันว่า การกดหน้าอกของชายคนนั้นเป็นไปตามหลักการแพทย์ ตรงจุดที่ถูกต้อง ไม่ใช่การลวนลามอย่างที่ถูกกล่าวหาในโลกออนไลน์
แม้เหตุการณ์นี้จะเป็นเรื่องของการช่วยชีวิต แต่กลับมีคนบางส่วนในโลกออนไลน์วิจารณ์ว่า “ควรให้ผู้หญิงเป็นคนช่วย” หรือ “เป็นการลวนลามหรือเปล่า?” ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นน้ำใจและศักดิ์ศรีของผู้ที่ช่วยชีวิต
การตั้งข้อกล่าวหาโดยไม่มีเหตุผลชัดเจนเช่นนี้ กลายเป็นปรากฏการณ์ “ผลร้ายของการทำดี” ที่อาจทำให้คนในสังคมรู้สึกท้อใจ ไม่กล้าเข้าช่วยเหลือผู้อื่นในสถานการณ์ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม พยานในที่เกิดเหตุให้สัมภาษณ์ ระบุว่า “ตอนนั้นสถานการณ์เร่งด่วนมาก ไม่มีใครคิดเรื่องแบบนั้นเลย หญิงสาวไม่ตอบสนองใด ๆ เลย แต่หลังจากได้รับการปั๊มหัวใจก็เริ่มกะพริบตาได้แล้ว”
ชายที่ทำ CPR ในเหตุการณ์นี้คือ อาจารย์ผาน จื้อปิน (盘志斌) อาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อมหูหนาน
โดยเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 12 กรกฎาคม ขณะเขาขี่รถผ่านถนนลี่ซิน เมืองเหิงหยาง เขาเห็นว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติจึงหยุดรถลงไปสอบถาม พบว่ามีหญิงสาวหมดสติล้มลง เขาได้สอบถามว่าต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ และบอกกับคนรอบข้างว่าเขามีความรู้ด้านการช่วยชีวิต จากนั้นจึงรีบคุกเข่าลงบนถนนร้อน ๆ ทำการกดหน้าอกช่วยชีวิต (CPR) ให้กับหญิงสาว โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที หญิงสาวเริ่มกลับมามีสัญญาณชีพ เช่น การหายใจและชีพจรที่อ่อนลง จากนั้นรถพยาบาลก็มาถึง และมีประชาชนช่วยกันนำหญิงสาวขึ้นรถพยาบาล
โดยลูกของอาจารย์ผาน จื้อปิน อยู่ในเหตุการณ์ด้วย เห็นการช่วยชีวิตของพ่อตั้งแต่ต้น อาจารย์ผานกล่าวว่า “ผมอยากให้ลูกเห็นว่าสังคมของเรายังมีความอบอุ่น และทุกคนสามารถเป็นคนที่ส่งต่อความอบอุ่นนั้นได้”
อาจารย์คณะแพทย์ ช่วยทำ CPR ให้หญิงหมดสติ
การทำ CPR ต้องกดตรงจุดที่ถูกต้อง บริเวณครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก กลางระหว่างหัวนมทั้งสอง (ในผู้ใหญ่) โดยใช้ส้นมือเป็นหลัก ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณหน้าอกได้
หากมีหลายคนในที่เกิดเหตุ ควรสลับคนทำ CPR ทุก 2 นาที เพื่อรักษาคุณภาพของการช่วยเหลือและป้องกันความเหนื่อยล้าของผู้ช่วยชีวิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ย้ำว่า เวลาทองของการช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นคือ 4 นาที ช้าลงทุก 1 นาที โอกาสรอดจะลดลง 10%
เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงปัญหาใหม่ในสังคมปัจจุบัน เพียงเพราะอคติเรื่องเพศและความเข้าใจผิดในโลกออนไลน์ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทุกวินาทีหมายถึงความเป็นความตาย ไม่มีเวลามาคิดเรื่องเพศของผู้ช่วยชีวิต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลงมือช่วยทันที หากมัวลังเลหรือปล่อยให้ความกลัวถูกเข้าใจผิดมาหยุดยั้ง อาจทำให้สูญเสียโอกาสสำคัญในการช่วยชีวิต
ดังนั้น การที่สังคมควรให้ความสำคัญกับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่ควรให้ “น้ำใจ” ต้องกลายเป็น “ข้อหา” เพราะความเข้าใจผิดหรืออคติ โดยเฉพาะเมื่อมีคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ