กทม. ปรับค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ เริ่มเดือน ต.ค. 68
sanook July 16, 2025 07:26 AM

กทม. ปรับค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ เริ่มเดือน ต.ค. 68 กทม. ชวนคนกรุงฯ แยกขยะก่อนทิ้ง รับส่วนลดค่าธรรมเนียมผ่านแอปฯ BKK Waste Pay ช่วยลดขยะ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้

เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานโครงการ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม นับถอยหลัง 80 วัน จัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะใหม่ เริ่มเดือน ต.ค. 68 ว่าสืบเนื่องจาก กทม. ได้ตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการร่วมลดและคัดแยกขยะแหล่งกำเนิดหรือต้นทาง สอดคล้องกับสภาวการณ์และค่าใช้จ่ายปัจจุบัน

สำหรับข้อบัญญัติฉบับดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 68 มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 180 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ก.ย. 68 โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่จากเดิม 20 บาทต่อเดือน เป็น 60 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค. 68 เป็นต้นไป

นายชัชชาติ กล่าวว่า น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร ที่มีการแยกขยะตามกฎหมาย หลักการง่ายๆ คือ การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง ถ้าครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีขยะไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อวัน จะเสียค่าจัดเก็บค่าขยะ 20 บาทต่อเดือนเท่าเดิม แต่ถ้าไม่เข้าร่วมโครงการจะเสีย 60 บาท เพียงแค่แยกขยะแล้วใส่ถุงแยกไว้ก็จะมีคนมาเก็บไป ส่วนขยะที่เหลือหากเป็นขยะรีไซเคิลสามารถนำไปขาย หรือบริจาคได้เพราะเปลี่ยนเป็นเงินได้

ที่ผ่านมา กทม. ใช้เงินในการจัดการขยะประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ขยะบางอย่างมีมูลค่า ถ้ามารวมกันจะทำให้ไร้มูลค่า ขอยืนยันว่า กทม. จะแยกขยะตั้งแต่รถจัดเก็บไปจนถึงปลายทาง ไม่ลำบากมาก อาจต้องปรับพฤติกรรมนิดหน่อย เชื่อว่าถ้าร่วมมือกันจะทำให้เมืองดีขึ้นได้

ในส่วนภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการต่าง ๆ มีการปรับค่าธรรมเนียมขึ้นด้วย อัตราจะแตกต่างจากบ้านเรือน หากรายใหญ่มีการแยกขยะจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะได้มาก และจ่ายค่าธรรมเนียมขยะน้อยลง อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองทำเพื่อสังคม เพื่อโลก เป็นหัวใจสำคัญ ช่วงแรกในการดำเนินการจะมีการแจกถุงขยะ แจกสติกเกอร์ หากภาคีเครือข่ายมาร่วมกันมากขึ้น ทำให้สะดวกมากขึ้น ก็จะช่วยได้

ขณะเดียวกัน จะมีการประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันจะเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นได้ เป็นผลกับสิ่งแวดล้อมกับโลก ตอนนี้ได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชน อยากให้ประชาชนลงทะเบียนร่วมโครงการเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้อาศัยโรงเรียนในสังกัดที่มีนักเรียนอยู่ประมาณ 2.5 แสนคน อสส. ศบส. และหน่วยงานต่าง ๆ ลงพื้นที่เพิ่มเติม รวมถึงมี Influencer มาช่วยด้วย ตอนนี้จะเห็นว่าเรื่องการแยกขยะเป็นกระแสที่กำลังมาแรงมาก ๆ เชื่อว่า 80 วันที่เหลือ กทม. มีความพร้อมทั้งการจัดเก็บขยะ และให้ความรู้กับประชาชน

ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อบริหารจัดการขยะ ที่ต้องกำจัดกว่า 1 หมื่นตัน/วัน การที่กรุงเทพมหานครได้ตราข้อบัญญัติฉบับนี้ โดยมีการปรับขึ้นอัตราค่าธรรมเนียม การจัดการขยะ จึงไม่ใช่เหตุผลเดียวในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ แต่เพื่อใช้กลไกของค่าธรรมเนียมช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะอย่างน้อย 4 ประเภท ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ผ่านโครงการ บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม เพื่อลดปริมาณขยะเป้าหมาย 1,000 ตัน/วัน ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครได้วันละ 2 ล้านบาท

อีกทั้งการแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ขาย หรือบริจาคขยะ ก่อนส่งให้ กทม. นำไปกำจัด จะเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้หากนำไปขายด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลประเภทของขยะพบว่ากว่า 50% ของขยะในกรุงเทพมหานคร คือ ขยะเศษอาหาร ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน ส่งผลให้ขยะประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามประเภทของขยะนั้น ๆ ด้วย

ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมขยะทุกประเภท ส่งเสริมแยกขยะ ลดปริมาณจัดเก็บและค่าใช้จ่าย

การปรับค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2568 นี้ มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมขยะทุกประเภททั้งมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยติดเชื้อ สิ่งปฏิกูลและไขมัน

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการมูลฝอยทั่วไป แบ่งการจัดเก็บทั้งแบบรายเดือนและครั้งคราว โดยการจัดเก็บรายเดือน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 บ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หากไม่คัดแยกขยะจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 30 บาท) หากคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ ที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียม เท่าเดิมที่เคยจ่าย คือ เดือนละ 20 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท)

กลุ่มที่ 2 สถานที่ที่ผลิตมูลฝอยเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร อัตราค่าธรรมเนียม หน่วยละ 120 บาท/เดือน (1 หน่วยเท่ากับ 20 ลิตร) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากอัตราค่าธรรมเนียมเดิม โดยใช้หลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณมูลฝอยที่ทิ้ง (PAYT Model) ส่งเสริมให้คัดแยกขยะเพื่อลดค่าธรรมเนียม

กลุ่มที่ 3 สถานที่ที่ผลิตมูลฝอยมากกว่า 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน อัตราค่าธรรมเนียม หน่วยละ 8,000 บาท/เดือน (1 หน่วยเท่ากับ 1 ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากอัตราค่าธรรมเนียมเดิม เนื่องจากกลุ่มที่ 3 ผลิตมูลฝอยในปริมาณมาก และมีศักยภาพในการดำเนินการลดและคัดแยกมูลฝอยของตนเอง โดยใช้หลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณมูลฝอยที่ทิ้ง (PAYT Model) เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.