กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริม “เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น” ซึ่งเป็นแผนย่อยของกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย โดยใช้จุดแข็งของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต
สอดคล้องกับแผนพัฒนาสับปะรด พ.ศ.2566-2570 ที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านการผลิต แปรรูป และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน
โดย น.ส.อุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่าจากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครพนมจึงมีนโยบายส่งเสริม “สับปะรดท่าอุเทน” เป็นหนึ่งในผลผลิตเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีความโดดเด่น
สายพันธุ์ที่ปลูกคือ ปัตตาเวีย ปลูกในพื้นที่อำเภอท่าอุเทน และอำเภอโพนสวรรค์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.2556 และได้รับรางวัลสับปะรดระดับประเทศจากกรมส่งเสริมการเกษตร 2 ปีซ้อน (ปี 2548-2549)
นอกจากนี้ ยังได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์โอท็อปเด่นระดับจังหวัด (PSO) ประจำปี 2565 ปี 2566 และปี 2568 จุดเด่นของสับปะรดท่าอุเทน คือ เนื้อสีเหลืองเข้ม ตาตื้น รสชาติหวานฉ่ำ หอม ไม่กัดลิ้น แกนหวานกรอบ
สับปะรดท่าอุเทนเป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียสายน้ำผึ้ง ที่พอเกษตรกรชาวสวนนำมาปลูกในพื้นที่อำเภอท่าอุเทนและอำเภอโพนสวรรค์ แล้วกลายพันธุ์ตามสภาพพื้นดินและสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากสายพันธุ์เดิม เป็นที่ชื่นชอบของหลายๆ คนที่ได้รับประทานและมีการบอกต่อถึงความอร่อยที่ไม่เหมือนที่อื่น
ปลูกกันมากในพื้นที่อำเภอท่าอุเทนและอำเภอโพนสวรรค์ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นลูกคลื่นลอนตื้น ดินร่วนปนทราย และมีฝนตกกระจายสม่ำเสมอ ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ใช้ฟางแห้งหรือเศษหญ้าคลุมผลช่วงเจริญเติบโต เพื่อป้องกันแสงแดดจัด ส่งผลให้มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์
จากการลงพื้นที่ของ สศท.3 พบว่ากลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกสับปะรด GI บ้านกุดกุ่มน้อย ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ มีการบริหารจัดการอย่างเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ผ่านกลไกเกษตรแปลงใหญ่ เริ่มดำเนินการปี 2561 ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกร 83 ราย ได้รับมาตรฐาน GAP 80 ราย
โดยมีนายสุขสันต์ พรรณวงษ์ เป็นประธานกลุ่ม พื้นที่ปลูกรวม 1,840 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,500 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 6,000 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 4,000 กิโลกรัม/ไร่
เกษตรกรสามารถปลูกได้ช่วงเดือนธ.ค.-พ.ค. แต่เว้นช่วงฤดูฝนเนื่องจากทำให้เกิดโรครากและยอดเน่า ระยะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 11 เดือนขึ้นไป
ขณะที่ผลผลิตสับปะรด GI ออกสู่ตลาดช่วงเดือนมี.ค.-ก.ย. (สับปะรดทั่วไปผลผลิตออกตลอดทั้งปี)
ผลผลิตจำหน่ายในรูปแบบผลสด โดยแบ่งเป็นขายปลีก 80% และขายส่งให้พ่อค้าคนกลาง 20%
ซึ่งในส่วนของการขายปลีกแบ่งเป็นจำหน่ายให้พ่อค้าต่างจังหวัด 70% ส่งไปยังจังหวัดต่างๆ อาทิ ยโสธร อุดรธานี อุบลราชธานี รองลงมาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 20% อาทิ ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com และเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ของเกษตรกรเอง และจำหน่ายให้กับส่วนราชการ 10%
ด้านราคาสับปะรด GI ของกลุ่ม (ราคา ณ เดือนพ.ค. 2568) แบ่งตามขนาด ได้แก่ ขนาดเล็ก (0.5-0.8 กิโลกรัม/ผล) ราคา 10 บาท/กิโลกรัม ขายปลีก ราคา 12 บาท/กิโลกรัม ขนาดกลาง (0.9-1.8 กิโลกรัม/ผล) ราคา 12 บาท/กิโลกรัม ขายปลีก 15-20 บาท/กิโลกรัม และขนาดใหญ่ (1.8 กิโลกรัมขึ้นไป) ราคา 20 บาท/กิโลกรัม ขายปลีก 25-30 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจากการจำหน่ายสับปะรด GI สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ยรายละ 60,000 บาท/ไร่/ปี
ทั้งนี้ กลุ่มมีการพัฒนาคุณภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะต่อไปกลุ่มมีเป้าหมายพัฒนาเครื่องคัดแยกขนาดผลผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และเพิ่มมูลค่า พร้อมกับแนวทางใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ เช่น การผลิตปุ๋ยหมักจากสับปะรดที่ตกเกรด ตามแนวทาง Zero Waste ซึ่งเกษตรกรควรดูแลแปลงอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะช่วงสภาพอากาศแปรปรวนที่อาจกระทบต่อคุณภาพของผลผลิต เช่น โรคใบแห้งเหี่ยว ผลขอบตาแตก หรือโรคแกนดำ ควรใช้วิธีการห่อผลสับปะรด คลุมดินด้วยฟาง และให้น้ำอย่างเพียงพอ
หากสนใจสับปะรดท่าอุเทน GI หรือต้องการสั่งซื้อผลผลิตโดยตรงสามารถติดต่อนายสุขสันต์ พรรณวงษ์ ประธานแปลงใหญ่ผู้ปลูกสับปะรด GI บ้านกุดกุ่มน้อย โทร.06-4360-7223 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.3 โทร.0-4229-2557 หรืออีเมล์ zone3@oae.go.th