ดำเนินการสู้รบมานานถึง 1,240 วัน หรือกว่า 3 ปี 4 เดือน สำหรับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” นับตั้งแต่รัสเซียกรีธาทัพข้ามพรมแดนเข้ามารุกรานยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) เป็นต้นมา จนถึง ณ ชั่วโมงนี้
สร้างความสูญเสียไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย จำนวนหลายแสนชีวิต ทั้งทหารและประชาชนพลเรือน รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งในส่วนของทหารและพลเรือนของทั้งสองฝ่ายอีกเช่นกัน ซึ่งหลายรายต้องกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือพิการ ในชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไป
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ขอให้ยุติสงครามการสู้รบ ที่ยืดเยื้อยาวนานข้างต้น แต่ทว่า ก็ยังไม่เป็นผล โดยไฟสงครามยังคงลุกไหม้อยู่ต่อไป ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ก็คือ ยูเครน ในฐานะประเทศผู้ถูกรุกราน แตกต่างจากรัสเซีย ซึ่งสามารถเห็นภาพสะท้อนได้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวยูเครน ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดสงคราม
ในช่วงแรกๆ ของสงครามการสู้รบ ประชาชนชาวยูเครน ดูจะไม่วิตกกังวล เพราะยังมีความเชื่อมั่นว่า ประเทศของพวกเขาน่าจะผ่านพ้นความยากลำบากจากสงครามมาได้ เพราะมีสายธารความช่วยเหลือหลั่งไหลจากมหาอำนาจชาติตะวันตกเข้ามายังยูเครนอยู่เป็นระยะๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา ในยุคนายโจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ต้องยกให้เป็นผู้สนับสนุนในการช่วยเหลือรายใหญ่ ซึ่งทั้งเม็ดเงินงบประมาณ และอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้ามาช่วยเหลือยูเครน คิดเป็นมูลค่ารวมแล้วหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สวนทางแตกต่างจากสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ถึงขนาดเปิดศึกวิวาทะฟาดฝีปากกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ในทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ก็มีให้โลกได้ตะลึงพรึงเพริดกันมาแล้ว
พร้อมกันนั้น ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่มีต่อยูเครน ทั้งในด้านเม็ดเงินงบประมาณ และอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ลดน้อยถอยลงไป ตามเหตุปัจจัยในความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงของทั้งสองฝ่ายจากเหตุการณ์ปะทะคารมข้างต้น
สร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาชนชาวยูเครน ตลอดช่วงที่ผ่านมา และพร้อมๆ กันนั้น กองทัพรัสเซีย ก็มีปฏิบัติการโจมตีในพื้นที่เป้าหมายต่างๆ ในยูเครนอย่างหนักหน่วงกันทุกวี่วัน
ถึงขนาดในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวยูเครนครั้งล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ โดยสถาบันสังคมวิทยานานาชาติเคียฟ หรือเคไอไอเอส (KIIS : Kyiv International Institute of Sociology) ปรากฏว่า ร้อยละ 47 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม มีความวิตกกังวลถึงขั้นว่า ประเทศยูเครนของพวกเขาจะล่มสลายเพราะสงครามการสู้รบกับรัสเซียที่กำลังดำเนินไปอยู่นี้ ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งกันแต่ประการใด ซึ่งการล่มสลายของประเทศยูเครน ก็อาจจะมีขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ หรือภายในปี 2035 (พ.ศ. 2578)
ทั้งนี้ ตัวเลขร้อยละ 47 ข้างต้น ก็มากกว่าการสำรวจครั้งที่แล้ว เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2024 (พ.ศ. 2567) ที่ได้ตัวเลขเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น โดยเพิ่มขึ้นมาถึง 28 จุด
นอกจากนี้ ยังนับเป็นครั้งแรกในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวยูเครน แล้วได้สัดส่วนตัวเลขของผู้ที่คิดว่าประเทศจะล่มสลาย ซึ่งถือเป็นกลุ่มตัวอย่าง หรือกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ร้าย มากกว่ากลุ่มตัวอย่าง หรือกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ดี แถมมิหนำซ้ำยังเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกต่างหากด้วย
ใช่แต่เท่านั้น ตัวเลขร้อยละ 47 ของกลุ่มตัวอย่างที่คิดเห็นว่า ประเทศยูเครนของพวกเขาจะล่มสลายภายใน 10 ปีข้างหน้า ก็ยังมีความคิดเห็นเชิงวิตกว่า จะเกิดปรากฏการณ์คลี่นอพยพครั้งใหญ่ในหมู่ประชาชนชาวยูเครน อันสืบเนื่องจากการล่มสลายของประเทศที่จะมีขึ้นด้วย
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์อพยพของประชาชนชาวยูเครนแล้ว ก็มีอยู่เนืองๆ และมี 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ ทั้งในรูปแบบอพยพภายในประเทศ คือ หนีภัยการสู้รบจากเมืองที่ถูกกองทัพรัสเซีย กำลังถล่มโจมตี ไปยังเมืองที่มีความสุ่มเสี่ยงการถูกโจมตีของกองทัพรัสเซียน้อยกว่า คือ ยังอพยพอยู่ภายในประเทศ และอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ การอพยพหนีภัยสงคราม ออกนอกประเทศไปเลย ซึ่งในจำนวนของผู้อพยพแบบนี้ ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน
พร้อมกันนี้ ทางเคไอไอเอส ยังระบุด้วยว่า ตัวเลขที่ออกมา ต้องบอกว่า สวนทางแตกต่างแทบจะสิ้นเชิง เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจความคิดเห็นเมื่อช่วงเดือนธันวาคมา 2024 ซึ่งในการสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้วนั้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 57 หรือกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ที่เชื่อมั่นว่า ประเทศยูเครน จะเจริญรุ่งเรืองในสหภาพยุโรป หรืออียู หมายความว่า ประเทศยูเครนของพวกเขาจะเจริญรุ่งเรืองได้ จากการที่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรืออียู
เหตุปัจจัยที่ทำให้ชาวยูเครน มีความคิดเห็นเชิงลบ จนได้ตัวเลขแตกต่างสวนทางกับการสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เพราะเป็นห่วงกังวลว่า ยูเครนจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนยูเครนรายใหญ่ หลังเกิดเหตุการณ์วิวาทะระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีเซเลนสกี แถมยังมีรองประธานาธิบดีเจ ดี แวนซ์ แห่งสหรัฐฯ เข้ามาร่วมวงฟาดฝีปากผสมโรง
ทางเคไอไอเอส ยังนำเสนอข้อมูลแบบย้อนหลังในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวยูเครน ก่อนหน้านั้นแบบถอยหลังไปในเกือบ 3 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนใหม่ๆ เมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) ซึ่งปรากฏว่า ประชาชนชาวยูเครน ยังคงเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า ประเทศของพวกเขายากที่จะล่มสลาย โดยผู้ที่มีความคิดเห็นเช่นนี้ เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น และร้อยละ 88 เชื่อมั่นว่า ประเทศยูเครนของพวกเขาจะเจริญรุ่งเรืองภายใต้ร่มธงอียูด้วยซ้ำ
โดยตัวเลขของการสำรวจที่ออกมาครั้งล่าสุดว่า ร้อยละ 47 วิตกกังวลว่า ประเทศของเขาจะล่มสลายในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงกำลังใจของพวกเขานั้นว่า กำลังตกต่ำเพียงใด กับสถานการณ์สู้รบของสงครามกับรัสเซียที่ดำเนินมานานกว่า 3 ปีด้วยกัน