สภามีมติรับหลักการ 3 ร่าง กม.นิรโทษกรรม ไฟเขียวฉบับ รทสช.-คพช.-ภท. ปัดตกฉบับ ปชน.-ไอลอว์ ด้าน "พปชร."ย้ำไม่รับร่าง"นิรโทษกรรม"ทุกฉบับ ย้ำร่างที่ผ่านสภาต้องไร้เนื้อหานิรโทษกรรม ม.112 ! "ณัฐพงษ์"จี้ "พรรคการเมืองอื่น" รับหลักการร่างนิรโทษกรรม บอกหากยังมีความเห็นแตกต่าง อย่าโหวตคว่ำ แต่ให้งดออกเสียง เชื่อเป็นการเปิดประตูหาทางออกให้ประเทศ ปลดชนวนความขัดแย้งตลอด 20 ปี ศาล นัดชี้ชะตา ทักษิณคดี ม.112 วันที่ 22 ส.ค.นี้ ส่วนเจ้าตัวแฮปปี้ ทนายเผยพยาน 3 ปากพอแล้ว เชื่อจะได้รับความเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ ว่า ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเป็นเกมการเมือง ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ถอนร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกไป และมีการเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกล (เดิม) แล้วเปลี่ยนเป็นพรรคประชาชน (ปชน.) เสนอแทน คิดว่าเป็นเพียงเรื่องประจวบเหมาะเท่านั้น
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ อาจผ่านสภาได้เฉพาะร่างฯ ที่นิรโทษกรรม เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่ยืนยันว่าต้องไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการชุมนุมของบางกลุ่ม ที่มีประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วย เพราะกระทบต่อสถาบันฯ ดังนั้น ร่างฯ นี้จึงไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลซึ่งถือเสียงข้างมาก
นายชัยวุฒิ กล่าวย้ำจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ ว่า ไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทุกฉบับ พร้อมระบุว่า พรรคการเมืองอื่นก็ให้ไปว่ากันเอง ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งหรือประเด็นถกเถียงในสภา
ส่วน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า วันนี้มีการพิจารณาในสภาฯ หลายอย่าง เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม การยืนยันในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามที่ สส.เสนอไป รวมถึงร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน โดยร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ตนเชื่อว่าวันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่ตัวแทนจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาล หรือฝ่ายประชาชน เห็นตรงกันว่าประเทศเราควรมีกฎหมายนิรโทษกรรม
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เราเห็นตรงกันแล้วว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองได้ฉุดรั้งประเทศไทย และฉุดรั้งการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะการรัฐประหาร 2 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ นายกรัฐมนตรี 9 คน มีคนที่บาดเจ็บล้มตายหลายร้อยคน รวมถึงคนที่ได้รับความสูญเสีย และผลกระทบอีกหลายพันคน ประเทศไทยเสียหายไปหลายแสนล้านบาท จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา
นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า เราเห็นตรงกันว่า วันนี้ถ้าเราไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม เราอาจจะไม่สามารถปลดชนวนระเบิดความขัดแย้งที่รอวันประทุในวันหน้าได้ รวมถึงความขัดแย้งในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานั้น ยังเป็นเหมือนโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศด้วย ฉะนั้น ตนจึงอยากเรียกร้องความกล้าหาญ ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ซีกพรรคการเมืองใด อยากจะเรียกร้องให้ทุกคน ลงคะแนนเสียง เพื่อเปิดประตูให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านการพิจารณาเข้าสู่วาระ 2 ในทุกๆ ร่าง
"แน่นอนที่สุดว่า การเรียกร้องความกล้าหาญในวันนี้ แม้หลายพรรคจะยังไม่สะดวกใจที่จะสามารถโหวตรับได้ในทุกร่าง ตามเสียงที่พรรคประชาชนเรียกร้องไป แต่ผมเชื่อว่ายังมีวิธีโหวต วิธีการลงคะแนนเสียงในสภาฯ วันนี้ที่อาจจะไม่ได้ขัดกับความรู้สึกของแต่ละคนมากเท่าใดนัก แต่ยังเป็นทางออกให้กับสภาฯ ที่จะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแต่ละร่างได้ทั้ง 5 ร่าง ในวาระที่ 2 นั่นคือการโหวตรับร่างของตัวเองเพื่อยืนยัน และโหวตรับร่างที่คิดว่าเป็นสิ่งที่รับได้ เช่น ร่างกฎหมายของภาคประชาชน หากใครคิดว่าสามารถรับหลักการได้ ก็โหวตรับไปเลย" นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันร่างที่เรายังคงเห็นแตกต่างกันอยู่ ไม่ควรที่จะมาโหวตคว่ำ หรือปิดกั้นความคิดเห็น หรือความเห็นที่ยังแตกต่างอยู่ของภาคส่วนอื่นๆ เรายังใช้ทางเลือกในการโหวตงดออกเสียงในร่างที่เรายังเห็นแตกต่างกันอยู่ได้ เพราะการลงคะแนนเสียงแบบนี้ คือการยืนยันในหลักการของร่างที่เราเห็นด้วย และงดออกเสียงในร่างที่ยังเห็นต่าง ซึ่งจะเป็นกุญแจและประตูสำคัญ ที่จะทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 5 ฉบับ ได้ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2
นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า การลงมติในวันนี้ ไม่ใช่การที่เราแสดงออกว่าเราไม่เห็นด้วยกับใคร แต่เราต้องยืนยันว่าเราเห็นด้วยว่า ประเทศนี้ต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้น การลงมติตรงนี้ ไม่ใช่เวทีที่เราจะมาแสดงออกถึงการจงรักภักดี หรือไม่จงรักภักดี หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่เราต้องหาทางออกร่วมกันสมานฉันท์กัน การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีการเลือกปฏิบัติ ตนไม่เชื่อว่า จะเป็นการปลดชนวนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต จึงอยากจะส่งข้อเรียกร้องไปยังพรรคอื่นๆ ที่ได้แสดงออกถึงจุดยืนของตัวเองแล้ว ว่าจริงๆ แล้ว ยังมีทางออกในสภาอยู่
เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีมติชัดเจนว่า จะไม่รับร่างใดเลย นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตามหน้าข่าวที่ออกมา สิ่งที่มีความชัดเจน คือมีหลายคนที่ระบุว่าไม่สะดวกใจ หรือหลายพรรคไม่สะดวกใจ ในเรื่องการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งพวกเรายังยืนยันว่า ข้อเห็นต่างเรื่องนี้ยังคงไปพูดคุยกันในวาระที่ 2 ได้ ดังนั้น ข้อแตกต่างนี้ควรจะลงมติงดออกเสียงในร่างที่ตนเองยังมีความไม่สะดวกใจอยู่ แต่ไม่ควรที่จะโหวตคว่ำ เพราะจะเป็นการปิดประตู หรือความคิดเห็นของภาคส่วนอื่นๆ
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกรณีที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ออกแถลงการณ์ระบุอาจเปิดกลไกเพิ่ม ซึ่งอาจหมายถึงการเพิ่มเติมในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นความเห็นที่รับฟังได้ ในเรื่องการรับหลักการของทั้ง 4 ร่าง ที่ยังไม่ได้รวมร่างของพรรคภูมิใจไทย หลักการเปิดไว้ค่อนข้างกว้าง ฉะนั้น หากมีร่างใดร่างหนึ่งที่ผ่านการพิจารณาเข้าไป ก็จะเป็นการเปิดประตูให้เราสามารถถกเถียงในรายละเอียดอื่นๆ ได้ ขอยืนยันอีกครั้งว่า อยากให้การลงมติในวันนี้ ลงมติด้วยใจที่เปิดกว้าง
เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม จำนวน 5 ฉบับ ต่อเนื่องจากการประชุมสภาฯในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการอภิปรายสรุปเนื้อหาร่างพ.ร.บ.แต่ละฉบับก่อนจะลงมติ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายสรุปว่า ร่างพ.ร.บ.สร้างสังคมสันติสุข ที่นำเสนอ ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มกปปส. แต่ทำเพื่อทุกกลุ่ม แต่ไม่ได้นิรโทษกรรมคนทุจริต ความผิดคดีอาญาเข่นฆ่าประชาชน และคดีมาตรา112 ขอให้ลดการเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน สิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ารับร่างกฎหมายแล้วจะตราเป็นกฎหมายทันที ต้องไปหารือในชั้นกมธ. เชื่อว่า สภาจะจับมือร่วมกันให้สังคมเกิดสันติสุข
ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ไม่ได้ยินสส.คนใดบอกไม่อยากให้อภัยคนที่ทำผิดจากการแสดงออกทางการเมือง คดีมาตรา112 มีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง ควรได้รับนิรโทษกรรม ถ้ารับร่างเฉพาะฝ่ายรัฐบาล เท่ากับเปิดช่องนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ทำร้ายประชาชน แล้วไปนิรโทษกรรมข้อหากบฏ ก่อการ้าย ปิดสนามบิน ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองให้ตัวเอง จะเรียกว่าสร้างสังคมสันติสุขได้อย่างไร
การนิรโทษกรรมแบบได้บางกลุ่ม แต่ตีตราคนอีกกลุ่ม ถือว่าผิดทาง เลือกปฏิบัติ อยากให้ผู้ที่มีอำนาจออกกฎหมาย โหวตนิรโทษกรรมคดีมาตรา112 ให้เดินต่อไปได้ ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยก็ไปอธิบายสื่อสารให้เข้าใจ อย่าไปตัดสินก่อนว่า คดีมาตรา112 น่ารังเกียจ คดีมาตรา112 มีมิติ มีเรื่องราวมากกว่าที่เคยทราบมา อย่าปิดประตูตาย ทอดทิ้ง คนอีกหลายร้อยชีวิต เหมือนพวกเขาไม่มีตัวตน ขอให้รับร่างกฎหมายนี้ เพื่อเคารพต่อสามัญสำนึกของท่านเอง
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า หลักการนิรโทษกรรมพรรคภูมิใจไทยคือ ไม่รวมคดีทุจริต ไม่รวมคดีมาตรา112 และการกระทำผิดให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือต้องรับผิดชอบต่อตัวบุคคล ที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ การจะเดินหน้าไปสู่สันติสุข ต้องมั่นใจกุญแจที่ไขจะนำไปสู่ความปรองดอง ไม่ใช่ไขแล้วไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ยอมรับเห็นใจคนทำผิดมาตรา112 แต่ต้องยอมรับว่า คนที่ถูกลงโทษคดีมาตรา112 มีไม่น้อย ที่เป็นทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
การแก้กฎหมายต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง และการเผชิญหน้า คนทำผิดมาตรา112 ยังมีช่องทางอื่น เช่น ถ้าสำนึกผิดก็ขอพระราชทานอภัยโทษ หลายคนที่ถูกลงโทษคดีนี้ก็ได้รับการอภัยโทษ พรรคภูมิใจไทยไม่ได้รังเกียจคนทำผิดมาตรา112 แต่ถ้าไปเหมารวมทุกกรณี สิ่งตามมาคือความไม่สงบสุขในสังคมรอบใหม่ ต้องมาขอนิรโทษกรรมไม่จบสิ้น ขออภัยไม่สามารถรับร่างที่ขัดเหตุผล นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม เพราะไม่อาจเยียวยาบาดแผลเก่า เพื่อไปสร้างบาดแผลใหม่ขึ้นมาได้
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า จะส่งเสริมสันติสุข โดยทิ้งคนอีกกลุ่มได้อย่างไร ที่ผ่านมาได้ไปทำความเข้าใจร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลต่อสส.ต่างพรรค หลายคนบอกเห็นใจ เข้าใจ แต่ทำไม่ได้เรื่องการนิรโทษกรรม มาตรา112 เราเถียงกันในห้องแอร์จะนิรโทษกรรมให้คดีใดก่อน แต่ไม่คำนึงว่า ไม่ว่าเป็นคดีใด ทุกคนก็เป็นประชาชน
คดีมาตรา112 เป็นคดีที่ถูกแบ่งแยก จะส่งเสริมสันติสุข โดยทิ้งคนอีกกลุ่มได้อย่างไร แม้จะมีความหวังน้อยนิด เพราะรู้ลึกๆในใจแต่ละคนมีธงอย่างไร ร่างของพรรคก้าวไกลไม่มีนิรโทษกรรมคดีมาตรา112 ในเนื้อหา เข้าใจดีว่า การรับร่างกฎหมายฉบับนี้ลำบากใจ แต่อย่างน้อยให้กดงดออกเสียงก็ยังดี ถือว่าเพียงพอให้ทุกร่างได้ไปถกในชั้นกมธ. ขอดึงสติทุกคนนี่คือวาระ1 จะปิดประตูความหวังประชาชนตั้งแต่วาระ1 คงไม่ใจร้าย ขอเปลี่ยนความเห็นใจเป็นการงดออกเสียงก็ยังดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากอภิปรายร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมครบทั้ง 5 ฉบับแล้ว ที่ประชุมจึงลงมติ โดยให้แยกการลงมติเป็นรายฉบับ ผลปรากฏที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบ 3 ฉบับคือ ฉบับที่1 ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 299 ต่อ0 งดออกเสียง172
ฉบับที่2 ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของนายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม (กธ.) ได้รับความเห็นชอบ 311ต่อ0 งดออกเสียง 158 ไม่ลงคะแนน1 และฉบับที่5 ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 311ต่อ3 งดออกเสียง 147
ขณะที่อีก 2 ฉบับ ไม่ได้รับความเห็นชอบคือ ฉบับที่3 ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ไม่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 319 ต่อ147 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน1 และฉบับที่4 ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่ภาคประชาชนเป็นผู้เสนอ ไม่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 306ต่อ149 งดออกเสียง20 ถือว่า ที่ประชุมไม่รับหลักการ ต้องตกไป
จากนั้นตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯขึ้น