ช่วงหน้าฝน สธ. เตือนภัย 'เห็ดพิษ' ย้ำ 'ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน' ห่วงเสียชีวิต
ข่าวสด July 17, 2025 09:25 AM

นครราชสีมา ช่วงหน้าฝน สคร.9 เตือนภัย “เห็ดพิษ” คล้ายกันจนแยกยากด้วยตาเปล่า ห่วงกินอาการรุนแรงเสียชีวิต ย้ำ “ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”

16 ก.ค. 68 – นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากและแยกได้ยาก

โดยเฉพาะเห็ดในระยะดอกตูม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า หากไม่มีความรู้ความชำนาญ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดนำเห็ดพิษมาประกอบอาหารจนเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ อาการหลังกินเห็ดพิษมีตั้งแต่เล็กน้อย เช่น วิงเวียน อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ไปจนถึงอาการรุนแรง ภาวะไตวายเฉียบพลัน ตับวาย และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ หากสงสัยว่ากินเห็ดพิษ ให้รีบรับประทานผงถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) และจิบน้ำเกลือแร่ หรือน้ำเปล่าเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป และรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที พร้อมนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือหรือภาพถ่ายเห็ดติดตัวไปด้วย ห้ามกระตุ้นให้อาเจียนเองเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายได้

นายแพทย์ทวีชัย กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเก็บและกินเห็ดป่า หรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่ไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจว่ากินได้ ไม่เก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมีเนื่องจากเห็ดจะดูดซับพิษจากสารเคมีมาไว้ในดอกเห็ด ไม่กินเห็ดดิบ เช่น เห็ดน้ำหมาก หรือกินเห็ดบางชนิดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่วที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้เกิดพิษได้

สำหรับภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำนั้นไม่สามารถใช้ได้จริง เห็ดพิษทุกชนิดไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน ที่สำคัญ คือ “เห็ดไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.