‘ภาษีทรัมป์’ยังเขย่าโลก
เปิดมุมคิด เจาะบทวิเคราะห์
รัฐไทยจะไปทางไหนต่อ?
ยังแก้ไม่ตก ถกไม่เลิก สำหรับปมปัญหา ‘ภาษีทรัมป์’ ซึ่งสหรัฐส่งจดหมายเก็บภาษีต่างตอบแทนจากไทยในอัตรา 36% สำหรับสินค้าทุกประเภทที่ไทยส่งไปสู่แผ่นดินอเมริกา ไม่รวมกับภาษีกลุ่มอุตสาหกรรม
‘สินค้าที่มีการส่งผ่านไปยังประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีที่สูงขึ้น ก็จะเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นอยู่ดี โปรดเข้าใจว่าอัตราภาษี 36% นั้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อขจัดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ’
คือส่วนหนึ่งของข้อความในจดหมายจากทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ลงวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ทำรัฐบาลไทยปั่นป่วน เช่นเดียวกับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโก ที่โดนไป 30% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป
ขณะที่บราซิลเจอจัดหนัก 50%
ด้านเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ทรัมป์แจ้งเก็บภาษี 20% บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า โต เลิม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามประหลาดใจ เนื่องจากทีมเจรจาเข้าใจว่าปิดดีลได้ที่ 10-15%
กลับมาที่ทีมไทยแลนด์ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือทวิภาคีกับ มาร์โก แอนโทนีโอ รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยเจ้ากระทรวงการต่างประเทศของไทย ขอให้ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ช่วยโน้มน้าวประเด็นภาษี โดยสหรัฐยืนยันว่าพร้อมคุยต่อ แม้พ้นเส้นตาย 1 สิงหาคม
ไม่ต้อง 0% แบบเวียดนาม เชื่อต่อรองเหลือ 25-28% ‘ยังพอแข่งได้’
วิกฤตครั้งนี้ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา (ICDS) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า
การที่สหรัฐอเมริกาประกาศแจ้งอัตราภาษีนำเข้าที่จะเรียกเก็บจากไทยซึ่งอยู่ที่ 36% สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มากกว่าเวียดนามและมาเลเซียนั้น มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐยังไม่ได้รับข้อเสนอเพิ่มเติมที่ไทยเพิ่งส่งไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา
“เชื่อว่าหากสหรัฐเห็นข้อเสนอดังกล่าว อาจพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าลงมา เพราะข้อเสนอเหล่านั้นให้สิทธิประโยชน์แก่สหรัฐมากกว่าครั้งแรกค่อนข้างมาก เช่น การเสนอเก็บภาษี 0% ในสินค้านำเข้าจากสหรัฐกว่าพันรายการรวมถึงสินค้าเกษตร และมีการให้กรอบเวลาลดการเกินดุลการค้าที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์และประเมินข้อมูลการค้าและการลงทุนเชิงลึก และสภาวะความไม่แน่นอนของนโยบายและเศรษฐกิจของสหรัฐแล้ว คิดว่าอัตราภาษีที่จะทำให้ไทยยังคงรักษาระดับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซียได้ จะอยู่ที่ 25-28% ซึ่งถือเป็นจุดที่เหมาะสมและยอมรับได้” รศ.ดร.จุฑาทิพย์วิเคราะห์
นอกจากนี้ ยังชี้ว่า จนกว่าจะถึงวันที่ 1 ส.ค.2568 ซึ่งเป็นวันที่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ยังพอมีระยะเวลาในการเจรจาต่อรอง โดยหากสหรัฐได้พิจารณาข้อเสนอที่ส่งไปเพิ่มเติมแล้ว แต่ยังคงอัตราภาษีนำเข้าไว้ตามเดิม หรือลดลงแต่ยังมากกว่า 25-28% ส่วนตัวเห็นว่า ไทยคงต้องยื่นข้อเสนอเพิ่มมากขึ้น ทว่าไม่ควรใช้วิธีการปรับลดกำแพงภาษีนำเข้าของไทยให้สหรัฐเหลือเพียง 0% ทุกรายการสินค้าแบบที่เวียดนามทำ
“หากเปรียบเทียบการลดภาษีเหลือ 0% ทุกรายการระหว่างไทยกับเวียดนาม จะพบว่าเวียดนามจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าไทย เนื่องจากเวียดนามมีประสบการณ์เปิดการค้าเสรีให้สหภาพยุโรป (EU) และประเทศอื่นๆ มาแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าเกษตร ขณะที่ไทยยังมีการใช้นโยบายภาษีและมิใช่ภาษีค่อนข้างเข้มข้น จึงเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบ
ต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยที่จะปรับตัวไม่ทัน จึงเสนอว่าไทยควรใช้วิธีการเสนอเพิ่มจำนวนปริมาณสินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นการทดแทนให้มากขึ้น เช่น การเพิ่มปริมาณนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ ก๊าซธรรมชาติ หรือการจัดซื้อเครื่องบิน เป็นต้น” อาจารย์ธรรมศาสตร์เผยมุมมอง
แนะรัฐสรรงบ ‘เยียวยา’ ชี้เป้าเพิ่มปริมาณสินค้าสั่งซื้อแทน
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ยังชี้ว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาปรับลดภาษีของสหรัฐจะเป็นไปอย่างที่ต้องการหรือไม่ รัฐบาลไทยก็ควรจะต้องเริ่มต้นวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเยียวยาคนไทยผู้ได้รับผลกระทบจากการลดภาษีให้กับสหรัฐ เช่นผู้ประกอบการธุรกิจ หรือเกษตรกร และรัฐบาลจะต้องเร่งหาตลาดส่งออกให้มีความหลากหลาย (diversity) มากขึ้น ไม่พึ่งพาสหรัฐมากจนเกินไปแบบที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความไม่แน่นอนทางนโยบายซึ่งอาจจะเกิดการกลับไปกลับมาได้อีกเสมอ
“ตลาดอาเซียน แม้จะมีสินค้าคล้ายกันหลายอย่าง ทว่าแต่ละที่ก็มีความ Specialize เป็นของตัวเอง ที่ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันได้ หรือจะเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ควรจะเพิ่มอัตราการส่งออกไปมากขึ้นหลังจากที่ลดน้อยลงไปมากก่อนหน้านี้ สำคัญที่สุดคือการเร่งทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ร่วมกับ EU ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปได้มากขึ้น ประการสุดท้ายคือควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปประเทศ ทั้งเรื่องโครงสร้างการผลิตและการส่งออก โครงสร้างภาษีและไม่ใช่ภาษีอย่างจริงจัง รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการไทย” รศ.ดร.จุฑาทิพย์กล่าว
ต้องฉวยจังหวะทบทวน แก้ปัญหาภายในประเทศ เลิกตกเป็นเหยื่อ ‘นอมินี’
ด้าน รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา (ICDS) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นอกเหนือจากผลการเจรจาและมาตรการเยียวยาที่รัฐบาลต้องดำเนินการในทันทีแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือไทยควรใช้จังหวะนี้กลับมาทบทวนและแก้ปมปัญหาภายในประเทศเพื่อยกระดับประสิทธิภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมิติการลงทุนจากต่างชาติในไทย เช่น ปัญหาการตกเป็นเหยื่อ
นอมินีของชาวต่างชาติ เช่น การให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เข้าข่ายเป็นนอมินี และมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542
“ปัญหาอาจไม่ใช่แค่เรื่องของนอมินี แต่ต้องหันกลับมาดูว่าการประกอบธุรกิจโดยนักลงทุนต่างชาตินั้น ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด เกิดการจ้างงาน หรือการลงทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่
ตัวอย่างเช่นการเข้ามาของผู้ประกอบการจีนในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องพิจารณาคือลักษณะการลงทุนของผู้ประกอบการจีนบางส่วนในไทยสร้างผลประโยชน์ให้คนไทยมากน้อยเพียงใด เขากำลังใช้ต้นทุนและความได้เปรียบของตนเองจนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยหรือไม่” รศ.ดร.อาชนันชวนตั้งคำถาม
กฎหมายซับซ้อน ล้าสมัย? ชวนจ้องปัจจัยเอื้อ-ไม่เอื้อนักลงทุนต่างชาติทำถูกกระบวนการ
ไม่เพียงเท่านั้น รศ.ดร.อาชนันยังมองว่า หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของปัญหานอมินี ก็ต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความซับซ้อนหรือความไม่ทันสมัยของกฎหมายหรือไม่ เช่น หากต่างชาติอยากจะเข้ามาดำเนินการให้มีความถูกต้อง มันเป็นเรื่องยากและซับซ้อนหรือไม่ หรือมีปัจจัยที่เอื้อให้นักลงทุนรู้สึกอยากทำตาม
กระบวนการที่ถูกต้องหรือไม่
“นอกจากนี้ ท่ามกลางปัญหาสังคมสูงวัยในไทยที่ประเทศขาดแคลนคนวัยแรงงาน การห้ามต่างด้าวประกอบกิจการเด็ดขาดตามบัญชี 1 ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไข ตามบัญชี 2 และอนุญาตโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ต้องมีผู้ถือหุ้นคนไทยมากกว่าต่างด้าว ตามบัญชี 3 กฎหมายดังกล่าวควรจะต้องมีการกลับมาทบทวนและปรับปรุงกันใหม่หรือไม่ หรืออาจจะต้องปลดล็อกในบางธุรกิจให้ต่างชาติทำได้มากขึ้น แต่ต้องควบคุม ตรวจสอบ โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ธุรกิจเหล่านั้นเกิดการลงทุน หรือจ้างงานคนไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และแก้ปัญหานอมินีได้ในระยะยาว” รศ.ดร.อาชนันทิ้งท้าย
เหล่านี้คือมุมมองต้องรับฟัง ในวันที่ไทยแลนด์ยังลุยหาทางออกแก้วิกฤตในความไม่แน่นอน
ครั้งนี้อย่างสุดความสามารถ