ยกย่องปูชนียบุคคลและผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี 68
GH News July 17, 2025 10:09 AM

วันภาษาไทย 29 กรกฎาคม ของทุกปี นอกจากระลึกถึงจุดเริ่มต้นของวันภาษาไทยแห่งชาติมีที่มาเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505  แล้ว ยังมุ่งส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่นภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้  และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย

น.ส.พลอย ธนิกุล ผู้ช่วย รมว.วัฒนธรรม  แถลงข่าวการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ.2568  ในวันที่ 29 ก.ค. ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยว่า  วันภาษาไทยแห่งชาติปีนี้มีการคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นในการวงการภาษาไทยและในสังคม  คัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีความชำนาญการใช้ภาษาไทยและมีผลงานสร้างสรรค์ ตลอดจนคัดเลือกผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น ซึ่งชำนาญการใช้ภาษาถิ่น  ภายในงานจะมีการมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น  มอบเกียรติบัตรผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการและการจัดพิมพ์หนังสือหายากโดยกรมศิลปากร เรื่อง”จินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ” ซึ่งเป็นแบบเรียนภาษาไทยสมัยอยุธยา สอนเรื่องอักขรวิธี  มีคุณค่าต่อการเรียนภาษาไทยในอดีต  เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  (สวธ.)  กล่าวว่า สวธ.คัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทโดดเด่นด้านภาษาไทย พ.ศ. 2568 แบ่งเป็น 4 ประเภท 16 รางวัล ดังนี้ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย  ได้แก่ รศ.จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น  ได้แก่ 1. นายกิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน 2.นายเผด็จ บุญหนุน 3.รศ.วิภาส โพธิแพทย์ 4.นายสมพล เข็มกำเหนิด 5. นายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร 6.นายอนุสรณ์ ติปยานนท์ และ 7.รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น  ได้แก่ 1.ผศ.ประภาศ ปานเจี้ยง 2.ผศ.พวงผกา ธรรมธิ 3.นายยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ 4.นายวิเชียร รัตนบุญโน 5.นางสำรวม ดีสม และ 6.นายอรุณศิลป์ ดวงมูล  และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย   ได้แก่  นางสุรีย์ พันเจริญ และประเภทองค์กร ได้แก่ สมาคมกวีร่วมสมัย

ด้าน นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ประกาศผลการประกวดเพลง “เพชรในเพลง”   พ.ศ.2568  ดังนี้   รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ นายศุภชัย  เจียรวนนท์ จากเพลง กตัญญู รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายสลา  คุณวุฒิ จากเพลงผู้หญิงหัวใจอีสาน รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่ นายพยัพ  คำพันธุ์ จากเพลงสู้ชีวิต รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย 

ส่วนรางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ พลพล – นายทชภณ  พลกองเส็ง จากเพลงอยากให้รู้ว่าห่วงใย รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ ผิงผิง-น.ส.สรวีย์  ธนพูนหิรัญ จากเพลงฟ้าหลังฝน รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ นัน-นายอนันต์  อาศัยไพรพนา  จากเพลง จีบเธอได้ไหม ชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ ใบเฟิร์น-น.ส.สุทธิยา  รอดภัย จากเพลง เสียงหวานจากหลานย่าโม ชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ น๊อตตี้ freedom หรือนายวรพล  นวลผกา  จากเพลงสู้ชีวิต รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตหญิง ได้แก่ แพร ชนา- น.ส.ชนาภรณ์  ทวีชาติ  จากเพลงคลื่น

นายทชภณ   พลกองเส็ง   หรือ พลพล น้กร้องชื่อดังเผยว่า ดีใจได้รับรางวัลเพชรในเพลงอีกครั้ง  เคยคว้ารางวัลจากเพลงหิ่งห้อย  ยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งถ่ายทอดภาษาไทยอย่างถูกต้องให้ทุกคนได้ฟัง ในการทำเพลง อัดเสียง ให้ความสำคัญกับคำควบกล้ำ ถ้าไม่ชัดเจนอัดใหม่ ต้องใช้ภาษาไทยให้ชัดเจน รางวัลเป็นกำลังใจของศิลปินที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่อไป บทเพลงเป็นศิลปะและเป็นศาสตร์ในการใช้ภาษาไทย  ทั้งยังเป็นสื่อกลางแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย หรือส่งกำลังใจ  ปัจจุบันทั่วโลกรู้จักภาษาไทยมากขึ้นผ่านเอไอ เป็นภาษาที่สวยงามสืบทอดมาจนทุกวันนี้ เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง หรือใช้คำแสลง  ฝากถึงน้องๆ ให้เขียนภาษาไทยอย่างถูกต้องเป็นส่วนหนึ่งอนุรักษ์ภาษาไทย

นายอนันต์ อาศัยไพรพนา หรือที่รู้จักกันในนาม นัน ไมค์ทองคํา ศิลปินหนุ่มลูกทุ่งผู้มีเสียงไพเราะ กล่าวว่า ภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเพชรในเพลง ตนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่พยายามใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องในการขับร้องเพลงลูกทุ่ง รวมถึงสื่อสารถึงพี่น้องบนดอยให้รับรู้คุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย สร้างแรงบันดาลใจกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะพื้นที่ห่างไกลยังขาดบุคลากรส่งเสริมการศึกษาภาษาไทย  ตนจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์ภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.