10 ปี คืนชีวิต ‘คลองขนมจีน’ ‘เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ’ ต้นแบบอนุรักษ์ ฟื้นความหลากหลายชีวภาพ
GH News July 18, 2025 11:40 AM

10 ปี คืนชีวิต ‘คลองขนมจีน’
‘เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ’
ต้นแบบอนุรักษ์ ฟื้นความหลากหลายชีวภาพ

จากกคลองที่เคยถูกมองข้าม สู่พื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน สำหรับ ‘คลองขนมจีน’ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการฟื้นฟูภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมระยะยาวของแบรนด์เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ อย่าง ‘เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ’ ซึ่งเดินทางเข้าสู่ปีที่ 10 อย่างภาคภูมิ ด้วยเป้าหมายในการฟื้นฟูคุณภาพน้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศ และสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน

8 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีโครงการ ‘เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ’ ขึ้นที่โรงเรียนสาคลีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมประกาศความสำเร็จในการดำเนินโครงการที่ไม่เพียงแต่ฟื้นฟูสายน้ำให้สะอาดขึ้น แต่ยังขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม จนนำไปสู่การยกระดับพื้นที่คลองขนมจีนให้เป็น ‘พื้นที่นำร่องระดับประเทศ’ สำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs-Other Effective area-based Conservation Measures) อย่างเป็นทางการ

ฟื้นฟูครบมิติ คืนคุณภาพน้ำ
สร้างคุณค่าร่วมกับชุมชน

ไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังว่า ‘โครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายสำคัญของเนสท์เล่ในระดับโลกในการบรรลุ Net Zero ภายในปี 2050

หนึ่งในแผนงานหลักคือ Water Stewardship หรือการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และโครงการนี้คือบทพิสูจน์ว่า การคืนปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำกลับสู่ธรรมชาติสามารถทำได้จริง โดยภายในสิ้นปีนี้ เนสท์เล่จะสามารถชดเชยน้ำได้ 100% หรือคิดเป็นปริมาณมากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่ม

ด้วยการดำเนินงานอย่างครบวงจรของโครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ ส่งผลให้น้ำในคลองขนมจีนกลับมาสะอาด และมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น ชาวบ้านในชุมชนก็สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองในการทำการเกษตรทั้งประมงพื้นบ้าน และปลูกพืชผักในน้ำ เพื่อการบริโภคสร้างรายได้ และยังกลับมาใช้คลองเป็นเส้นทางสัญจรของชุมชน ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นการฟื้นฟูคลองขนมจีนครบทุกมิติ เพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกับแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

“เรามีความภูมิใจที่โครงการคลองขนมจีนแห่งนี้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เราได้ร่วมกันดูแลและฟื้นฟูคลองขนมจีนจนมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สร้างประโยชน์ให้กับชาวชุมชนคลองขนมจีน และเราจะยังคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นถัดไป” ไชยงค์กล่าว

บรรยากาศพิธีเปิดธนาคารขยะ โดยไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

3 เสาหลัก ‘เรียนรู้ ปกป้อง ฟื้นฟู’ เกิดผลลัพธ์รูปธรรม
หอยกาบ ปลาน้ำจืดที่สูญหาย ขยายพันธุ์เพิ่มต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์ น้ำขับเคลื่อนด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่

1.เรียนรู้ ให้ความรู้ และปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

เริ่มต้นจากโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ ในปี 2558 ซึ่งเป็นโครงการประกวดแผนงานเพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนสาคลีวิทยาเป็นโรงเรียนที่ชนะการประกวด ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่อง และได้จัดทำศูนย์การเรียนรู้ ณ โรงเรียนสาคลีวิทยา เมื่อปี 2561 เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการถ่ายทอดความรู้ และส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำอย่างครบวงจร และเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของโครงการ เนสท์เล่ได้ปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ โดยเพิ่มความรู้ในแง่มุมของการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

2.ปกป้อง ลดและป้องกันไม่ให้มีขยะหลุดลอดลงสู่แหล่งน้ำ

เนสท์เล่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการปกป้องแหล่งน้ำไม่ให้มีขยะหลุดลอดสู่แหล่งน้ำ ผ่านการจัดกิจกรรม ตลาดนัดขยะชุมชน โดยเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ ได้ร่วมมือกับวงษ์พาณิชย์ เปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ของชาวบ้าน ที่ผ่านมาได้รวบรวมขยะรีไซเคิลเข้าสู่ระบบได้มากกว่า 16 ตัน ล่าสุดได้เปิดตัวธนาคารขยะ นำร่องที่โรงเรียนสาคลีวิทยาเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและสามารถสร้างรายได้ให้กับนักเรียนและชุมชน

3.ฟื้นฟู ดูแลและปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้ระบบนิเวศ

เนสท์เล่ให้ความสำคัญกับแนวทางการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เนสท์เล่รักษ์น้ำ คืนปลาสู่คลองขนมจีน จัดทำบ่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นหายาก เช่น ปลากระทิง ปลาหลด ปลาหมู ปลาแดง นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการปลูกพืชน้ำ เช่น กระจับ แพงพวยน้ำ บัวสาย ต้นเตยหอม และในโอกาสครบรอบ 10 ปี ยังได้ปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามจำนวน 100,000 ตัวสู่คลองขนมจีน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์

ทั้ง 3 เสาหลักข้างต้น ส่งผลลัพธ์ทางระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.วัชราภรณ์ ตันติพนาทิพย์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ซึ่งร่วมติดตามและวิจัยผลของโครงการมาตั้งแต่ต้น เผยว่า ได้เห็นพัฒนาการที่ดีในแง่มุมของความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณคลองขนมจีนตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการของเนสท์เล่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนด้านการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิต การเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะกลุ่มหอยกาบและปลาน้ำจืดหลายชนิดที่เคยสูญหายไปจากคลองขนมจีน ซึ่งในปัจจุบันพบการแพร่กระจายและขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งภายในระบบนิเวศและความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อาหาร

บรรยากาศวิธีการสาธิตการแยกขยะ โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ

ชุมชนเห็นคุณค่า ‘ยอ’ กลับมา
จาก 2 คัน สู่ 30

ด้าน ศุภวัฒน์ คามีเยาน์ ผู้จัดการด้านความยั่งยืนธุรกิจน้ำดื่มเนสท์เล่ เปิดเผยว่าทางบริษัทยึดหลักเกณฑ์ Water Based Accounting ในการดำเนินโครงการคืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชน ซึ่งหมายถึงการจัดการปริมาณน้ำที่ใช้ในโรงงานให้สมดุลกับน้ำที่คืนกลับสู่ระบบนิเวศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เนสท์เล่มีปริมาณการใช้น้ำในโรงงานมากกว่า 50% แต่สามารถคืนกลับสู่ธรรมชาติได้มากถึงกว่า 65% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง

สำหรับการคืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชน เนสท์เล่ใช้หลักเกณฑ์ Water Based Accounting ซึ่งต้องสัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่ใช้จากโรงงานด้วย โดยผ่านครึ่งปีแรกของปี 2568 เนสท์เล่มีปริมาณใช้น้ำเกินกว่า 50% แต่มีการคืนน้ำสู่ธรรมชาตินำหน้าไปกว่า 65% แล้ว ปัจจุบัน เนสท์เล่มีโรงงานผลิตน้ำดื่มในประเทศไทย 2 แห่ง คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ และได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์น้ำในลักษณะเดียวกันต่อเนื่องมาแล้วกว่า 4 ปี

“สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้โครงการเดินหน้าคือความร่วมมือจากชุมชน การประสานงานระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้โครงการดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยไม่หยุดชะงักหรือถอยหลัง เพราะผลลัพธ์ที่ได้เกิดขึ้นจริงและสามารถสัมผัสได้ เช่น การเพิ่มจำนวนพันธุ์ปลา การกลับมาของแมลงปอและหิ่งห้อย รวมถึงจำนวนยอที่ใช้จับปลาในคลอง ซึ่งเพิ่มจากเพียง 2 คันในช่วงเริ่มต้น มาเป็นมากกว่า 30 คันในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าชุมชนเห็นคุณค่าของการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ด้วยองค์ประกอบของโครงการที่มีทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชนร่วมมือกันอย่างแข็งขัน จะทำให้ทั้งโลกหันมาให้ความสนใจกับประเด็นแหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่อย่างจำกัด” ศุภวัฒน์กล่าว

คลองขนมจีนหลังได้รับการฟื้นฟู

คาดบรรลุวัตถุประสงค์ ‘เนสท์เล่’
ชดเชยน้ำคืนสู่ธรรมชาติกว่า 1 ล้าน ลบ.ม.

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการดังกล่าวยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการนำร่อง OECMs (Other Effective area-based Conservation Measures) ซึ่งแม้คลองในโครงการจะมีขนาดไม่ใหญ่ แต่สามารถยกระดับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้รับการรับรองในระดับสากล ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นต้นแบบที่คลองอื่นๆ ในประเทศไทยสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้

สำหรับก้าวต่อไปของโครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ คือการขยายพื้นที่ดำเนินการสู่ต้นคลองและปลายคลอง พร้อมสร้างเครือข่ายชุมชนเพิ่มเติม เพื่อขยายผลสู่การอนุรักษ์น้ำในระดับประเทศ โดยยังคงยึดแนวทางเรียนรู้ ปกป้อง ฟื้นฟูเป็นหลักในการขับเคลื่อน

นอกจากนั้น การดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เนสท์เล่คาดว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการชดเชยน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติและชุมชน ในปริมาณเท่ากับที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจน้ำดื่ม 100% (100% Water Regeneration) ภายในสิ้นปี 2568 คิดเป็นปริมาณน้ำที่จะคืนสู่ธรรมชาติกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้วยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โครงการ ‘เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ’ จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องของประเทศไทยในด้าน OECMs ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสู่มาตรฐานสากล

นอกจากนี้ โครงการยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมชลประทาน กรมประมง มูลนิธิ WWF ประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และองค์กรท้องถิ่นในชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่เห็นผลจริง ประจักษ์ชัดจากหลากชีวิตที่ฟื้นคืนสู่สายน้ำอีกครั้งอย่างยั่งยืน

กัญญ์วรา ขุนยัง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.