เกษตรฯ เปิดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์
GH News July 18, 2025 08:10 PM

เกษตรฯ เปิดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2568 ระดับประเทศ ยกระดับบริการถึงมือเกษตรกร ส่งเสริมองค์ความรู้ เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2568 ระดับประเทศ โดยมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นางวจิราพร อมาตยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อปัดเป่าทุกข์ร้อนแก่พสกนิกรใต้ร่มบรมโพธิสมภาร ด้วยน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่พสกนิกร ทรงห่วงใย ทรงติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยคณะกรรมการโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงได้ร่วมกันจัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2568 ระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 17 – 18 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช และระดับจังหวัด อีก 76 จังหวัด ซึ่งกำหนดจัดงานในห้วงระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2568 โดยมีเป้าหมายเกษตรกรรวมกว่า 8,900 ราย

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมลงนามถวายพระพร พิธีถวายพระพรชัยมงคล การแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กิจกรรมการให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ โดยมีคลินิกหลักที่ร่วมให้บริการจำนวน 11 คลินิก ได้แก่ คลินิกดิน ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยและให้บริการด้านวิเคราะห์ ตรวจสอบดินและปุ๋ย การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ และการผลิตพืชปุ๋ยสด โดยกรมพัฒนาที่ดิน คลินิกพืช ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยและให้บริการด้านโรคและแมลง ศัตรูพืช วัชพืชการเก็บเกี่ยวพืช การผลิตเมล็ดพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ การทดสอบความงอก การขาดธาตุอาหารพืช สารพิษตกค้าง และวัตถุมีพิษทางการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร คลินิกข้าว ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคที่เกิดในข้าว การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูข้าว การกำจัดวัชพืชในนาข้าว การลดต้นทุนการผลิตข้าว การใช้ข้าวพันธุ์ดี การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว การบริการตรวจรับรอง GAP ข้าว และการแปรรูปและการใช้ประโยชน์จากข้าว โดยกรมการข้าว คลินิกปศุสัตว์ ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคและการตรวจรักษา พยาบาลสัตว์ การให้วัคซีน ทำหมันสัตว์ การผสมเทียม การควบคุมโรคระบาดในสัตว์ และการเลี้ยงสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ คลินิกประมง ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยและรักษาโรคในสัตว์น้ำ การควบคุมโรคระบาดในสัตว์น้ำ การตรวจคุณภาพน้ำ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยกรมประมง คลินิกชลประทาน ให้คำปรึกษา แนะนำการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ และการให้น้ำแก่พืช โดยกรมชลประทาน คลินิกสหกรณ์  ให้คำปรึกษา แนะนำการจัดตั้งสหกรณ์ การบริหารงานในสหกรณ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เกี่ยวกับสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ คลินิกบัญชี ให้คำปรึกษา แนะนำการจัดทำบัญชีฟาร์ม และบัญชีครัวเรือน โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ คลินิกกฎหมาย ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานความรู้ด้านกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คลินิกหม่อนไหม ให้คำปรึกษา แนะนำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หม่อนพันธุ์ดี การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาแปลงหม่อน การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูหม่อน การดูแลรักษาผลหม่อนสุก และการทำชาใบหม่อน โดยกรมหม่อนไหม และคลินิกส่งเสริมการเกษตร ที่ให้คำแนะนำด้านอารักขาพืช การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การขยายพันธุ์พืช การเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตร โดยศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ 11 คลินิกหลักแล้ว ยังมีกิจกรรมพิเศษเปิดให้บริการเจาะลึกองค์ความรู้พืช โดยเน้นการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูของพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดนครศรีธรรมราช อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไม้ผล ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การปลูก การดูแลรักษา จนถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับกิจกรรมสาธิต/ฝึกอบรมระยะสั้น จากคลินิกส่งเสริมการเกษตร และคลินิกอื่นๆ กว่า 10 หลักสูตร เช่น การขยายพันธุ์พืชที่เหมาะสม การขยายและการใช้สารชีวภัณฑ์อย่างง่าย การเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง การทำยาหม่องจากผลิตภัณฑ์ผึ้ง การเพาะผักงอกเพื่อสร้างรายได้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อโค การแปรูปข้าว การแปรรูปมังคุด การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรต่างๆ เช่น พืชพันธุ์ดี สารชีวภัณฑ์ พันธุ์สัตว์น้ำ วัคซีนและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ และพันธุ์พืชอาหารสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการ Live จำหน่ายมังคุดคุณภาพของจังหวัดนครศรีธรรมราช และผลผลิต ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งการสาธิตการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และกิจกรรมอื่นๆ โดยโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ นอกจากระดับประเทศที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วยังมีการจัดกิจกรรมระดับจังหวัด อีก 76 จังหวัด ซึ่งกำหนดจัดงานในห้วงระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2568 และมีเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมงานรวมกว่า 8,900 ราย

ด้าน นางจิรันธนินท์ เพิ่มสูงเนิน หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมงาน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทำสวนยาง 18 ไร่ ใช้ปุ๋ยเคมีและฉีดยาฆ่าหญ้า ปรากฏว่าพอเปิดหน้ายาง แล้วไม่มีน้ำยาง ได้น้ำยางน้อยมาก ต่อมาได้ยินว่ามีงานคลินิกเกษตรจึงขอไปร่วมงานกับเจ้าหน้าที่เกษตร ได้เห็นว่ามีหลายบูธหลายหน่วยงาน และมีโอกาสได้ปรึกษาหมอดิน จากนั้นก็ทดลองขุดดินในพื้นที่สวนไปตรวจ ได้คำตอบว่าคุณภาพดินเสื่อมโทรม ได้รับคำแนะนำให้ใช้ปุ๋ยหมัก ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และปรับมาใช้น้ำหมักอินทรีย์ ทำให้จากเดิมที่เคยต้องจ่ายค่าปุ๋ยเคมีรอบละเกือบ 2 หมื่นบาท เมื่อปรับมาใช้ชีวภัณฑ์ก็ลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 7-8 พันเท่านั้น ทำให้รู้สึกว่าได้ประโยชน์มากมายจากการไปร่วมงานคลินิกเกษตร และปัจจุบันเกษตรกรก็ให้ความสนใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรมากขึ้น บางคนก็ทำไม่เป็นก็ได้ความรู้คำแนะนำจากการเข้าร่วมงาน เพราะภายในงานมีองค์ความรู้ด้านการเกษตรครบวงจร และสิ่งสำคัญคือได้เครือข่ายทั้งเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ที่มาร่วมงานอีกด้วย
 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.