"วันโดนัท" มีขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ สำคัญอย่างไร ทำไมถึงมีรูตรงกลาง
Komchadluek June 07, 2024 08:22 AM

"วันโดนัท" หรือ National Donut Day เริ่มต้นขึ้นในปี 1938 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เหล่าสตรี ในฝรั่งเศส แจกจ่าย โดนัท ให้กับเหล่าทหารหาญชาวอเมริกัน ทำให้ขนมหวานชนิดนี้แพร่หลายในสหรัฐอเมริกา หลังสงครามจบสิ้นลง "วันโดนัท" จะตรงกับทุกวันศุกร์ของเดือนมิถุนายนในทุกๆ ปี ซึ่งในปี 2567 นี้ จะตรงกับวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 

ชื่อของขนม "โดนัท" นั้นเป็นขนมพื้นเมืองของเนเธอแลนด์ เดิมทีมันไม่มีรูอยู่ตรงกลาง แต่เป็นแป้งทอดมีรสหวาน บางครั้งก็โรยน้ำตาล มีชื่อภาษาดัตช์ที่แปลเป็นไทย ว่า ขนมน้ำมัน (oil cake) ชาวยุโรปที่อพยพไปสหรัฐฯ ต้นศตวรรษที่ 17 นำขนมนี้ไปด้วย เพราะมันมีรูปร่างกลมเล็กเท่าลูกวอลนัท ชาวนิวอิงแลนด์ จึงเรียกขนมนี้ใหม่ว่า โด แปลว่า ก้อนแป้งบวก นัท ที่แปลว่า ถั่ว ตอนนั้นมันยังไม่มีถั่วผสมเลย แต่ยุคนี้ โดนัท โรยถั่วขนิดต่างๆ มีให้เลือกเยอะแยะ

รูตรงกลางของ โดนัท ถือกำเนิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อ นายแฮนสัน เกรกอรี กัปตันเรือชาวเมืองรอคพอท รัฐเมน สหรัฐอเมริกา เจาะรูแป้งโดนัท ที่แม่ของเขากำลังจะทอด เพราะคิดว่าการขยายพื้นผิวหน้าของขนม จะทำให้ทอดได้ง่ายขึ้น ไม่อมน้ำมัน ชาวเมืองรอคพอท ภาคภูมิใจกับรูตรงกลางของโดนัทมาก เพราะเกิดขึ้นจากเมืองของพวกเขา ถึงขนาดสร้างป้ายทองแดงจารึกเหตุการณ์นี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์

โดนัทโดนัท

โดนัต หรือ โดนัท (อังกฤษ: doughnut, donut) เป็นขนมแป้งทอดหรืออบ ที่มีเนื้อคล้ายกับ ขนมเค้ก มีลักษณะกลมมีรูตรงกลางคล้ายกับห่วงยาง มีหลายรสชาติ ถ้าเป็นของไทยจะมีน้ำตาลอยู่ที่ผิวของขนม โดนัทสามารถแบ่งออกตามกรรมวิธีการผลิตได้เป็น 2 ประเภท คือ โดนัทยีสต์ และโดนัทเค้ก (ควิกเบรดโดนัท)

กระบวนการผลิตโดนัทยีสต์นั้น จะใช้ยีสต์เป็นส่วนประกอบในการหมักแป้งให้ขึ้นฟู ซึ่งแตกต่างจากโดนัตเค้ก จะใช้ผงฟูในการหมักแป้งให้ขึ้นฟู ดังนั้นรสชาติ และเนื้อสัมผัสจะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากโดนัทเป็นเพียงแป้งทอดธรรมดา ไม่มีรสชาติ ผู้ผลิตจึงได้เพิ่มสิ่งต่างๆลงไป เพื่อให้โดนัทมีรสชาติที่ดีขึ้น อาทิ สอดไส้ คลุกน้ำตาล เคลือบหน้าโดนัทด้วยสีสันต่างๆ

ปัจจุบัน โดนัท เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น สามารถหาซื้อได้ตั้งแต่บนห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า ไปจนถึงตลาดนัด ราคาขายแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานที่

โดนัท
โดนัท

ข้อมูล : วิกิพีเดีย / bangkoklibrary

ภาพ : freepik

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.