"EVจีน-หนี้ครัวเรือน" ลามวิกฤตอุตยานยนต์ไทย โจทย์ใหญ่รัฐบาล
SUB_NUM September 11, 2024 06:41 PM

อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เคยเป็นดาวรุ่งของประเทศไทย และความหวังลำดับต้น ๆ ของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วันนี้เกิดอะไรขึ้น หลายคนมองถึง การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่มอเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงการเข้ามาของรถ EV จีนเป็นตัวแปรสำคัญ แต่นั่น…ยังไม่ใช่สาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเผชิญวิบากกรรมอยู่ขณะนี้

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ พุ่งเป้าไปที่การรุกคืบชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจากประเทศจีนที่มีกำลังการผลิต “ส่วนเกิน” และมีความสามารถในการตัดราคา โดยเฉพาะระยะหลังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้จำกัดกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอยู่เพียงแค่รถยนต์นั่งในปัจจุบันเท่านั้น แต่ลามและขยายวงกว้างไปยังตลาดรถปิกอัพซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไทยและตลาดส่งออกของไทยอีกด้วย

ประเด็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนรถ EV จีนของรัฐบาลไทยที่กำลังไปได้สวยเพราะปี 2567 นี้จะมีโรงงานผลิตรถ EV จีนเดินเครื่องภายในประเทศมากกว่า 10 โรงงาน แต่นั่นอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับการต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย เพราะการเข้ามาของนักลงทุนจีนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกต่างจากช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานผลิตในบ้านเราเมื่อ 50 ปีก่อน

และจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ยอดขายรถยนต์ร่วงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลล่าช้า ส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้น และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ มีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ภายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้วถึง 2 ค่าย ทั้งซูบารุ และซูซูกิ กำลังเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องเร่งหาคำตอบอย่างรวดเร็ว

หั่นเป้าผลิตในประเทศ 5 หมื่นคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่ายอดขายและยอดผลิตรถยนต์ในประเทศที่ลดลงจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราต่ำและการผลิตรถ EV ในประเทศทดแทนการนำเข้ามาขายก่อนตามเงื่อนไขมาตรการส่งเสริม EV ของรัฐบาลยังไม่พร้อมเต็มที่ ทำให้สภาอุตฯ ได้ลดเป้าขายรถยนต์ปี 2567 ลงจากเดิม 7.5 แสนคัน เหลือเพียง 7 แสนคัน (ลดลง 5 หมื่นคัน)

เชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบกับเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศและผู้ประกอบการทุกภาคส่วน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 มีจำนวนแค่ 644,951 คันเท่านั้น ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 16.88% ขณะที่ยอดผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์นั่ง 5 เดือน ผลิตได้ทั้งสิ้น 127,881 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือประมาณ 3% รถกระบะขนาด 1 ตัน 5 เดือนผลิตได้แค่ 306,535 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเกือบ 5% ส่วนจักรยานยนต์ 5 เดือนมีจำนวนทั้งสิ้น 1,013,665 คัน ลดลงจากปี 2566 ถึง 5.64%

เช่นเดียวกับ นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ทำได้ 260,365 คัน ลดลง 23.8% อันดับที่ 1 โตโยต้า 97,736 คัน ลดลง 15.7% ส่วนแบ่งตลาด 37.5% อันดับ 2 อีซูซุ 39,183 คัน ลดลง 46.9% ส่วนแบ่งตลาด 15% อันดับ  3 ฮอนด้า 37,374 คัน ลดลง 4.3% ส่วนแบ่งตลาด 14.4% ขณะที่ตลาดรถปิกอัพ Pure Pick up ปริมาณการขาย 75,510 คัน ลดลง 40.8%

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำ การลงทุนของภาครัฐลดลง ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่า 10 เดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลง และมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นอัตรา คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในสภา แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 3% หรือไม่ยังน่ากังวล ถ้ายอดผลิตรถยนต์และขายรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ

สงครามราคาทุบตลาด EV

นอกจากกลุ่มรถสันดาปจะหดตัว รถ EV ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน จากสถิติ 5 เดือนแรกปี 2567 รถ EV มียอดจดทะเบียนแค่ 43,921 คัน แม้ตัวเลขจะโตขึ้น แต่ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่ห่างจากที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินไว้เมื่อต้นปีที่คาดการณ์ว่า ปี 2567 ประเทศไทยจะมีรถ EV ป้ายแดงจดทะเบียนถึง 1.4 แสนคัน ภาพตอนนี้จึงเริ่มเห็นผู้ประกอบการบางค่ายใช้วิธีระบายสต๊อกด้วยการถล่มราคา เช่น BYD ลดราคา Dolphin มากกว่า 1.6 แสนบาท และล่าสุดฉลองเปิดโรงงานในวันที่ 4 ก.ค. ก็ลดราคา ATTO 3 อีกรวมลดตั้งแต่งานมอเตอร์โชว์มาถึงวันนี้สูงถึง 3.4 แสนบาท

แม้จะรู้ว่าเสี่ยงกับผลที่ตามมา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ตลาดสะดุดคนชะลอการซื้อ แต่ตอนนี้ทุกค่ายก็พร้อมจะใช้เกมนี้เรียกยอดขาย โดยเฉพาะ BYD ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้สูงถึง 50,000 คัน รวมถึงทัพ EV ชุดใหม่อีก 4-5 ราย อาทิ Geely, Riddara, Omoda & Jacoo, Denza ก็น่าจะทำให้เกิดสงครามราคาขึ้นอีกรอบ และกลุ่มรถ EV ที่เข้ามาก่อน ไม่ว่าจะเป็น เอ็มจี, เกรท วอลล์ฯ, NETA, AION, CHANGAN ก็พร้อมเล่นเกมราคาเพื่อชิงความได้เปรียบ กลายเป็นตัวเร่งให้ตลาดรถยนต์ปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น

ห่วงค่าแรงพุ่งไม่หยุด

สำหรับยอดผลิตและการขายรถยนต์ซึ่งลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำท่าว่าประเทศไทย น่าจะแพ้ฟิลิปปินส์ หล่นไปอยู่อันดับ 4 ในอาเซียนหลังพ่ายแพ้มาเลเซียมาหมาด ๆ ทำให้ทั้งผู้ประกอบการค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนอยากให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์สร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล มีการจ้างงานกว่า 750,000 คน มีการผลิตเป็นลำดับที่ 10 ของโลก และมีการส่งออกกว่า 170 ประเทศทั่วโลก

แม้ทุกคนจะเข้าใจว่าไฟแนนซ์ก็ยังกังวลปัญหาหนี้เสีย แต่ก็น่าจะผ่อนคลายลงได้บ้าง หรือสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจเลือกใช้รถยนต์ที่ผลิตในบ้านเราโดยเฉพาะปิกอัพที่มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศจำนวนมาก ก็คงช่วยหล่อเลี้ยงระบบซัพพลายเชนได้ในระดับหนึ่ง

สิ่งที่น่ากังวลคือผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่โดน 2 เด้ง กำลังซื้อหดตัวยังเจอค่าแรงที่สูงมากขึ้นอีกและเชื่อว่าจะพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยต้องไม่ลืมว่าค่าแรงจัดเป็นต้นทุนใหญ่ในการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเทียร์ 2 และเทียร์ 3 รวมถึงกลุ่ม SMEs แม้ระยะหลังจะมีบรรดารถจีนที่เริ่มผลิตในประเทศมีออร์เดอร์แล้วก็ตาม แต่นโยบายของโรงงานจีนกดราคาหนักมาก ถ้าซัพพลายเออร์คนไทยรับราคาไม่ได้เขาก็พร้อมนำซัพพลายเออร์จากจีนเข้ามาดำเนินการเองทั้งหมด

หวั่น 2 พันบริษัทไม่รอดกว่าครึ่ง

นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักว่า ประเทศไทยมีโรงงานผลิตรถยนต์ 28 โรง มอเตอร์ไซค์ 8 โรง ผู้ผลิตชิ้นส่วนเทียร์ 1 จำนวน 476 แห่ง และผู้ผลิตที่เป็นเทียร์ 2 และ 3 อีกประมาณ 1,200 ราย เชื่อว่าผลกระทบจากการผลิตรถยนต์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้ามาของรถ EV น่าจะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีล้มหายตายจาก เพราะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในมีปริมาณการใช้ชิ้นส่วนราว 30,000 ชิ้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นรถ EV จะเหลือเพียง 3,000 ชิ้น หายไปราว ๆ 10 เท่าตัว

มีการสำรวจพบว่าบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนจะหายไปราว ๆ 800 บริษัท แรงงานตกงาน 3 แสนราย ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนเท่านั้น ยังมีพวกทำ JIGS&FIXTURE ที่คอยสนับสนุนอีกเกือบ 200 บริษัท เท่าที่ดูน่าจะหายไปเกือบครึ่ง คนที่จะอยู่รอดก็เป็นชิ้นส่วนที่มีญี่ปุ่นถือหุ้น หรือไม่ก็เพียวไทยที่พร้อมปรับตัว ไปทำชิ้นส่วนที่รองรับรถ EV ตามที่บีโอไอกำหนด เช่น มอเตอร์, แทรกชั่น, คอนเวอร์เตอร์, แบตเตอรี่, ระบบควบคุมการขับขี่

ดิ้นหาอุตฯใหม่ทดแทน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า จากการสำรวจและหารือกับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป (ICE) ถึงความพร้อมในการปรับตัวเพื่อเดินหน้าไปสู่ภาคการผลิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเบื้องต้นได้แบ่งกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ต้องการเพิ่มผลิตภาพ 2.กลุ่มที่พร้อมผลิตชิ้นส่วน EV และ 3.กลุ่มที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดรน เครื่องจักรทางการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนยังมองว่า นโยบาย 30@30 พอมีเวลา อีกกว่า 6 ปี ในการปรับตัว ช่วงนี้ก็มุ่งทำรถยนต์กลุ่มไฮบริดไปก่อน

ล่าสุดยังมีการหารือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถึงการดึงเงินจากกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอี วงเงิน 2,000 ล้านบาท เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาปไปสู่ EV แต่ไม่ใช่การสนับสนุนมาตรการทางภาษี เพราะไม่ใช่การลงทุนใหม่ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงเพื่อไปสู่ภาคการผลิตใหม่

ตั้ง “Future Mobility” รับมือ EV

ขณะที่สภาอุตฯ มีการจัดตั้งหน่วยงาน Future Mobility เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย โดยประเทศไทยยังส่งเสริมให้มีการผลิตยานยนต์ทั้ง 2 ประเภทนี้เพื่อรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เช่น ขยายตลาดส่งออกในกลุ่มอะไหล่ทดแทน ไปยังประเทศที่ใช้รถสันดาปภายใน ยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเพื่อก้าวสู่ยานยนต์สมัยใหม่

ดังนั้นจากปัจจัยด้านกำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น กู้ซื้อรถไม่ผ่าน กำลังผลิตส่วนเกินของจีนซึ่งไม่ใช่แค่อุตฯ รถยนต์เพียงอย่างเดียว

กำลังเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่รัฐบาลต้องทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อผลักดันให้อุตฯยานยนต์ไทยเติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.